นายวิฑูรย์ แนวพานิช นายกสมาคมการค้าเครือข่ายแท็กซี่ไทย เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (21 ม.ค.) จะเข้ายื่นหนังสือถึงนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เรื่องขอลดราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) สำหรับรถยนต์รับจ้างสาธารณะ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือเยียวยาปรับลดราคาก๊าซ NGV ให้รถยนต์รับจ้างสาธารณะ กิโลกรัมละ 3 บาท จากปัจจุบันราคากิโลกรัมละ 13.62 บาท ให้ปรับลดเหลือราคา 10.62 บาท เป็นระยะเวลา 4 เดือน เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่นี้ ทำให้แท็กซี่ได้รับผลกระทบหนักกว่าการระบาดในรอบแรกเสียอีก
ปัจจุบันมีแท็กซี่ที่ให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ประมาณ 80,000 กว่าคัน ตอนนี้มีวิ่งให้บริการแค่ 40,000 กว่าคันเท่านั้น ส่วนอีก 40,000 กว่าคัน ต้องจอดรถทิ้งไว้เฉยๆ เนื่องจากไม่มีผู้โดยสารใช้บริการ บางส่วนทำงานอยู่ที่บ้าน
นายวิฑูรย์ กล่าวอีกว่า ภาครัฐมีมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการนั่งรับประทานอาหารในร้านอาหารทั่วไป และตามห้างสรรพสินค้าห้ามไม่เกินเวลา 21.00 น. ทำให้ผู้โดยสารลดลง ส่งผลให้รายได้ลดลงตาม จากช่วงที่ไม่มีโควิด-19 มีรายได้อยู่ที่ 1,800-2,000 บาทต่อคันต่อวัน วิ่งให้บริการวันละ 10-20 เที่ยววิ่ง แต่ตอนนี้รายได้ลดเหลือ 700-800 บาทต่อคันต่อวัน มี 5-7 เที่ยววิ่งต่อคันต่อวัน ทำให้แท็กซี่ต้องปรับแผนการเดินรถ จะวิ่งตามท้องถนนทั่วไปเหมือนแต่ก่อนไม่ได้ เพราะมีค่าใช้จ่ายเรื่องต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้ต้องจอดรอรับผู้โดยสารตามจุดที่มีผู้โดยสารหนาแน่นแทน เช่น สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน (เอ็มอาร์ที) และป้ายรถเมล์
นอกจากนี้ จะเตรียมเข้าหารือกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อให้ช่วยเหลือมาตรการเยียวยารถแท็กซี่ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ครั้งนี้ด้วย เบื้องต้นกรมการขนส่งทางบกแจ้งว่าแท็กซี่จะได้รับสิทธิ์เยียวยาตามมาตรการเดิมในครั้งที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รอบแรกทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นในช่วงที่งดต่อใบอนุญาตขับรถ (ใบขับขี่) รถรับจ้างสาธารณะ ถ้าใบขับขี่หมดอายุจะยกเว้นให้และไม่มีการจับปรับ รวมทั้งยกเว้นการตรวจสภาพรถประจำปี จะไม่มีการคิดค่าปรับ ตลอดจนประสานบริษัทประกันภัยให้หามาตรการช่วยเหลือเช่นกัน เพราะแท็กซี่จะมีค่าทำประกันภัยปีละ 18,000-20,000 คัน ส่วนการของดเว้นชำระค่างววดรถนั้น ได้รับประสานงานจากทางธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) จะจัดเวทีประชุมร่วมกับแท็กซี่ โดยจะเชิญบริษัทปล่อยสินเชื่อและไฟแนนซ์ต่างๆ มาร่วมหารือในเรื่องนี้ให้เกิดความชัดเจนต่อไป