xs
xsm
sm
md
lg

ไทยเดินหน้าวิจัยวัคซีนโควิด-19 ลุ้น! เริ่มฉีดอาสาสมัครได้หลังสงกรานต์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า สำหรับการวิจัยของจุฬาฯ ยังเดินหน้าต่อไป โดยอยู่ในขั้นตอนการผลิตเพื่อทดสอบในอาสาสมัคร โดยเริ่มส่งโรงงานเพื่อผลิตเดือนตุลาคม 2563 ซึ่งมี 2 ขั้นตอน คือ การผลิตตัวเนื้อวัคซีน mRNA และตัวเคลือบ และการผลิตก็จะมีแต่ละขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ทดลองในสเกลเล็ก คือโรงงานต้องลองก่อน โดยใช้เวลาเกือบ 2 เดือน ก่อนเข้าสู่สเกลใหญ่ วิเคราะห์คุณภาพ ซึ่งแต่ละโรงงานจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือนครึ่ง ซึ่งโรงงานแรกจะผลิตและส่งให้โรงงานแห่งที่ 2 ได้ประมาณต้นปี 2564 ขณะที่โรงงานที่ 2 จะเริ่มทดสอบสเกลเล็ก และผลิตให้เราได้ช่วงต้นเดือนเมษายน 2564

ดังนั้น คาดว่าจะเริ่มฉีดในอาสาสมัครคนไทยในระยะที่ 1 ได้ช่วงหลังสงกรานต์ หรือประมาณวันที่ 19 เมษายน 2564 เพื่อหาขนาดวัคซีนที่เหมาะสมในคนไทย และหลังจากนั้นประมาณเดือนมิถุนายน 2564 จะเข้าสู่การทดลองในอาสาสมัครระยะที่ 2 ต่อไป

สำหรับการทดลองในระยะที่ 3 ของไทยอาจไม่ต้องดำเนินการ เนื่องจากหากมีงานวิจัยวัคซีนโควิดผ่านเฟส 3 หลายตัว และเรามีข้อมูลว่า ต้องกระตุ้นแอนติบอดี หรือภูมิต้านทานให้ได้ประมาณ 200 ยกตัวอย่าง หากเราทดลองฉีดคนไทย 90% พบว่ากระตุ้นภูมิต้านทานสูงเกิน 200 หรืออาจสูงถึง 500 แสดงว่าภูมิต้านทานเราสูงเพียงพอ และทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พิจารณาว่า เมื่อกระตุ้นภูมิฯ เพียงพอ และมีข้อมูลว่าปลอดภัย ซึ่ง อย.อาจขอข้อมูลเพิ่มอีกเล็กน้อย หรืออาจให้ฉีดในอาสาสมัครอีกรอบ เพื่อดูว่าภูมิต้านทานนิ่งหรือไม่ เมื่อนิ่งก็จะสามารถผลิตได้ภายในปลายปี 2564 ซึ่งหากเป็นไปตามที่ยกตัวอย่างและคาดการณ์ ก็จะสามารถดำเนินการได้

ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้เปิดรับอาสาสมัคร หากเปิดรับจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ระหว่างรอวัคซีน ขอให้ประชาชนยกการ์ดสูงด้วยการสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า ล้างมือ และเว้นระยะห่าง