สธ.ชี้ ไทยช่วยกันควบคุมโรคได้น่าพอใจ ทำผู้ป่วยโควิดรายใหม่มีแนวโน้มลดลง แต่ห้ามประมาท ถ้าสัปดาห์หน้าลดลงต่อเนื่อง อาจมีผู้ป่วยสะสมใน รพ.น้อยกว่าคนหายกลับบ้าน และน่าจะลดลงจนถึงหลังสงกรานต์ ส่วนสายพันธุ์ย่อยของโควิด ไทยเจอทั้ง 3 สายพันธุ์ แต่ยังไร้ข้อมูลเรื่องระดับความรุนแรง ย้ำ ไม่ว่าสายพันธุ์ย่อยใด การป้องกันยังเหมือนกัน
วันนี้ (12 เม.ย.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า วันนี้มีผู้ป่วยรายใหม่ 33 ราย ต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ถือว่าการป้องกันควบคุมโรคในไทยได้ผลดีระดับหนึ่ง ทำให้ผู้ป่วยมีแนวโน้มลดลง แต่ยังไม่สามารถประมาทได้ เพราะโรคติดต่อทางเดินหายใจสามารถติดต่อกันได้อย่างง่าย หากมีคนป่วยที่ไม่ได้ป้องกันตนเอง หรือแข็งแรงดีแต่อยู่ใกล้คนป่วยโดยไม่ได้สวมใส่หน้ากากอนามัย ทั้งนี้ รายใหม่ 33 คน ที่น่าสนใจ คือ เกือบครึ่งหนึ่ง คือ 15 คน เป็นผู้รับเชื้อจากผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า คือ ผู้สัมผัสผู้ป่วยที่เราเฝ้าระวังอยู่ คำแนะนำคือเมื่อไรมีคนป่วยโรคทางเดินหายใจในครอบครัวหรือที่ทำงานต้องป้องกันทันที แม้จะยังไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น เพราะคนป่วยโควิดช่วงแรกจะมีอาการคล้ายไข้หวัด มีอาการไข้ ไอแห้งๆ มีน้ำมูก อาจมีจาม เป็นอาการน้อยๆ แต่ระยะนี้ ประเทศไทยอยู่ระหว่างเฝ้าระวังป้องกันโรคโควิด-19 หากมีไข้หวัดต้องรีบป้องกันใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่างจากคนอื่น ซึ่งคนในครอบครัวเดียวกันเสี่ยงมากที่สุด โดย 15 คนรายใหม่เกินครึ่งเป็นสมาชิกในครอบครัว ก็จะได้รีบป้องกันตนเอง
“ตอนนี้ช่วงใกล้สงกรานต์ หลายคนอาจเดินทางไปเยี่ยมญาติ แม้จะให้งดจัดงานสงกรานต์ อยากให้การฉลองสงกรานต์เป็นการงดไปเพื่อความปลอดภัย ไม่ใกล้ชิดญาติผู้ใหญ่โดยไม่จำเป็น บ้านเดียวกันต้องรักษาระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย อย่าให้มีการแพร่เชื้อ เพราะผู้สูงอายุมีอัตราป่วยตายสูงสุด วันนี้ผู้เสียชีวิตรวม 38 ราย ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัวหรือสูงอายุ โดยเกิน 70 ปีขึ้นไป อัตราป่วยตายมากกว่า 10% คือ 1 ใน 10 รายเสียชีวิต เราต้องช่วยกันปกป้องผู้สูงอายุไม่ให้ป่วย ไม่เข้า รพ. ก็ไม่เสียชีวิต น่าจะเป็นตัวช่วยให้เราตระหนักการปกป้องผู้สูงอายุ” นพ.โสภณ กล่าว
นพ.โสภณ กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่อีกกลุ่ม คือ บุคลากรทางการแพทย์ เป็นกลุ่มสำคัญมาก เพราะต้องให้การดูแลรักษา การติดเชื้อในบุคลากรเกิดขึ้นได้ ทั้งในการปฏิบัติภารกิจดูแลผู้ป่วย และติดเหมือนประชาชนทั่วไปจากการใช้ชีวิตประจำวัน โดยพบว่า 60% เกี่ยวกับปฏิบัติงาน 20% ติดเหมือนกับประชาชน และส่วนหนึ่งก้ำกึ่งเป็นไปได้ทั้งติดจากการทำงานหรือใช้ชีวิตประจำวัน บุคลากรทางการแพทย์ต้องตระหนักว่าการใช้ชีวิตประจำวันต้องป้องกัน ไม่รวมกลุ่ม แยกสำรับ ใช้ช้อนกลางส่วนตัว การพูดคุยโดยไม่ใช้หน้ากากอนามัยเป็นความเสี่ยง เรื่องการปฏิบัติงานจะเน้นเรื่องของมาตรฐานการป้องกันโรคติดเชื้อขณะปฏิบัติงานใน รพ. ขณะนี้ปัญหาเรื่องอุปกรณ์ป้องกันก็คลี่คลายไปในทางที่ดี หน้ากาก N95 ชุดป้องกันที่ใช้สำหรับปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยต้องใช้ให้ถูกต้องด้วย
นพ.โสภณ กล่าวว่า ส่วนอื่นการกลับมาจากต่างประเทศ คือ อินโดนีเซียไปศาสนกิจป่วยเพิ่ม 2 ราย ที่นราธิวาส คนต่างชาติเข้ามาแล้วป่วยไม่มีรายใหม่ เนื่องจากมาตรการรัฐบาลห้ามการเดินทางเข้ามาของชาวต่างชาติไม่มีเที่ยวบินตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย.ก็ได้ผลดี มีเหลือ 1 คนไทยกลับจากต่างประเทศตั้งแต่ 25 มี.ค.คือ กลับจากอังกฤษ ทั้งนี้ ความพร้อมในการป้องกันควบคุมโรคของไทยอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ทำให้ผู้ป่วยรายใหม่ลดน้อยลง ส่วนใหญ่เป็นผู้สัมผัสผู้ป่วยก่อนหน้า ถ้าอยู่ในระดับนี้ จำนวนผู้ป่วยก็น่าจะค่อนข้างคงที่ลดลงจนถึงหลังสงกรานต์ ถือว่าประชาชนร่วมมือช่วยกันในการลดจำนวนผู้ป่วยระยะต่อไป ขออย่าประมาทให้คงมาตรการที่รัฐแนะนำอยู่ เพื่อมีผู้ป่วยน้อยที่สุด ไม่มีผู้เสียชีวิตในระยะต่อไป
นพ.โสภณ กล่าวว่า การตรวจเชิงรุกที่ภูเก็ตนั้น มุ่งไปที่พื้นที่มีรายงานผู้ป่วยมาก่อน หาผู้มีประวัติเกี่ยวข้อง โดยกลุ่มเสี่ยงตรวจพบติดเชื้อ 9% กลุ่มอาการป่วย แต่ประวัติสัมผัสไม่ชัดเจนมากเหมือนกลุ่มแรก อัตราพบเชื้อเหลือประมาณ 3.9% และกลุ่มเสี่ยงน้อย ประชาชนทั่วไปคัดกรองวงกว้าง 2 พันกว่าคน พบเพียง 1.1% จะเห็นว่าสถานการ์ระบาดจำกัดในบางจุด เช่น พื้นที่ที่เคยพบผู้ป่วยมาก่อนอย่างป่าตอง แต่พอห่างออกมาในวงกว้างออกมา การติดเชื้อยังน้อยอยู่ การพบผู้ติดเชื้อในระยะแรก และนำเข้าสู่การกักกัน อยู่ในที่ที่ไม่แพร่แพร่เชื้อต่อจนครบ 14 วัน จะลดโอกาสแพร่เชื้อคนทั่วไป การทำงานเชิงรุกทำให้คุมสถานการณ์ได้ดีขึ้น พื้นที่ประเมินว่าสถานการณ์น่าจะอยู่ในระดับที่จำนวนผู้ป่วยลดลงเช่นกัน จากก่อนหน้านี้รายงานอันดับต้นๆ ท็อปไฟว์ อัตราป่วยมากที่สุด แต่ขณะนี้สถานการณ์อยู่ในระดับคุมได้ จำนวนผู้ป่วยน้อยลงเรื่อยๆ ข้อเสนอในพื้นที่คือการตรวจคัดกรองทำในผู้ที่เสี่ยงสูง เพื่อจะได้พบผู้ป่วยที่ดำเนินการป้องกันควบคุมได้ เกิดความคุ้มค่า เพราะการตรวจประชากรทั่วไปพบ 1% ทำแบบไม่มีเป้ามายจะเกิดการใช้ทรัพยากรไม่คุ้ม การตรวจแล็บต้องใช้อุปกรณ์เก็บตัวอย่าง ชุดป้องกันผู้ไปเก็บ ค่าตรวจ ชุดตรวจ ใช้ไปกับกลุ่มที่ไม่พบการติดเชื้อ ต้องชั่งน้ำหนักบริหารให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด
นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยโควิด 2,551 ราย อยู่ที่ รพ. 1,295 ราย กลับบ้าน 1,218 ราย เท่ากับอยู่ รพ. 51% ประเทศไทยรักษาหายกลับบ้านสูงเป็นอันดับต้นๆ เมื่อเทียบที่อื่นทั่วโลก คือเกือบครึ่งหนึ่งออกจาก รพ.แล้ว สำหรับจำนวนเตียง เรามีเตียงจำนวน 1,900 เตียง เฉพาะกทม.และปริมณฑล หากรวมเตียงต่างจังหวัดน่าจะมีเป็นหมื่น อย่างน้อยถึงสิ้น เม.ย.ก็ไม่มีปัญหา ที่น่าสนใจคือ ทำอย่างไรให้คนป่วยหายป่วยกลับบ้านมากขึ้น ถ้าสัปดาห์หน้ารายใหม่น้อย จะเห็นคนหายกลับบ้านมากกว่าคนอยู่ รพ. คือ เราต้องการให้กลับไปใช้ชีวิตตามปกติ ตอนนี้คนป่วยใน รพ.อาการน้อย แต่อยู่ครบ 14 วันปลอดเชื้อ แล้วอนุญาตกลับบ้าน แสดงว่าปลอดภัยจริง สามารถต้อนรับได้อย่างปลอดภัย ขอให้เข้าใจว่าเขาปอดภัยแล้ว ไม่ต้องไปแสดงท่าทีรังเกียจหรือไม่ต้อนรับ เพราะคนหายป่วยแล้วเป็นคนปกติ หลายคนมีภูมิคุ้มกันที่อาจช่วยเหลือคนอื่นได้ในอนาคต
นพ.โสภณ กล่าวว่า สำหรับเรื่องเชื้อ 3 สายพันธุ์ มีการศึกษาในไทยหลายสถาบันวิจัย เช่น รพ.รามาธิบดี สายพันธุ์ย่อยที่พบในไทย มีความคล้ายกับในต่างประเทศ เพราะช่วงแรกเป็นผู้ป่วยนำเข้า แต่มาหลายทาง คือ จีน ถัดมาทางยุโรปและอเมริกา เท่าที่ทราบข้อมูลเรามีสายพันธุ์ที่เป็น A2 , B1 , B1.4 คล้ายในต่างประเทศ แต่ยังไม่มีข้อมูลบอกว่าระดับความรุนแรงต่างกัน เราก็ต้องป้องกันรักษา ติดตามต่อ โดยใช้มาตรฐานเดียวกันหมด ไม่ว่าสายพันธุ์ใด ใช้มาตรฐานการดูแลเดียวกันหมดให้ดีที่สุดให้ผู้ป่วยรอดชีวิตมากที่สุด