นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคไวรัสอาร์เอสวี (RSV) ที่กำลังระบาดในกลุ่มเด็กเล็กในขณะนี้ ว่า อาร์เอสวี เป็นไวรัสชนิดหนึ่ง ก่อให้เกิดโรคไข้หวัดตามฤดู ซึ่งเป็นโรคประจำถิ่นของไทย มักเกิดในเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 5 ขวบ เนื่องจากผู้ใหญ่อาจจะเคยติดเชื้อไวรัสชนิดนี้มาแล้วเมื่อตอนเป็นเด็ก และร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันแล้ว อาการของโรคจะคล้ายไข้หวัดทั่วไป คือ ไข้ ไอ น้ำมูก หรือมีภาวะแทรกซ้อนในบางราย เช่น หลอดอักเสบ หูอักเสบ และภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงที่สุดคือปอดบวม อัตราการเสียชีวิตไม่สูง เมื่อเทียบกับการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่
ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรคร่วมกับหลายหน่วยงานเฝ้าระวังผู้เป็นไข้หวัดและปอดบวม ว่ามีการติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี มากน้อยแค่ไหน ภาพรวมพบว่าการป่วยโรคไข้หวัดที่มีสาเหตุจากไวรัสอาร์เอสวี เฉลี่ยร้อยละ 30 ต่อปี และในช่วงหน้าหนาวจะมีการระบาดไข้หวัดมากขึ้น โดยเมื่อเทียบสถานการณ์ของเดือนพฤศจิกายนในปี 2562 และ ปี 2563 พบว่าปีนี้จำนวนเด็กที่เป็นไข้หวัดไม่เพิ่มขึ้น
สำหรับการรักษาไม่แตกต่างจากไข้หวัดทั่วไป เนื่องจากเชื้อนี้ไม่มียาต้านไวรัสและวัคซีน ใช้การรักษาตามอาการและระวังอาการแทรกซ้อน คำแนะนำสำหรับการดูแลเด็กเล็กที่ต่ำกว่า 5 ขวบ โดยจะต้องระวังมากขึ้นในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ คือ ห้ามพาเด็กไปคลุกคลีกับผู้ป่วย ไม่เข้าที่แออัดโดยไม่จำเป็น และหากพบว่าเด็กมีอาการป่วยไข้หวัด ก็ห้ามพาไปที่ศูนย์เด็กเล็ก เพราะจะเกิดการแพร่เชื้อของโรคต่อ ส่วนผู้ดูแลศูนย์เด็กเล็กหรือสวนสนุกที่มีเด็กไป จะต้องเช็ดทำความสะอาดพื้นที่บ่อยๆ และหากพบอาการไข้ ไอ น้ำมูก จะต้องรีบพบแพทย์ทันที ส่วนกรณีเด็กที่มีภาวะแทรกซ้อนโรคไข้หวัดนำไปสู่ปอดบวม สังเกตจากการนับจังหวะการหายใจ โดยเด็กเล็กจะหายใจเร็วกว่าผู้ใหญ่ ด้วยวิธีจับเวลา สังเกตหน้าอกขยายขึ้นและลง นับเป็น 1 ครั้ง โดยปกติจะเด็กเล็กจะหายใจอยู่ที่ 30 ครั้งต่อนาที ผู้ใหญ่หายใจ 20 ครั้งต่อนาที โดยหากเด็กที่หายใจเกิน 30 ครั้งต่อนาที ร่วมกับอาการหายใจแรง เช่น ซี่โครงบุ๋ม จมูกบาน จะต้องรีบไปพบแพทย์ทันที
นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า ช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) คนไทยสวมหน้ากากอนามัยกันเยอะ โรคไข้หวัดลดลงอย่างมาก ดังนั้นเป็นสิ่งที่ยืนยันว่า มาตรการสวมหน้ากากอนามัยจะช่วยลดการระบาดของโรคอาร์เอสวีได้เช่นกัน และเนื่องจากการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอาร์เอสวีหรือไม่เป็น ในการรักษาเด็กมีประโยชน์ไม่เยอะ เพราะไม่มียารักษาโรคเฉพาะและไม่มีวัคซีน จะใช้การรักษาตามอาการ ดังนั้นการที่ตรวจว่าเป็นโรคอาร์เอสวีนั้นไม่จำเป็น เราจะใช้การตรวจวินิจฉัยในกรณีที่มีผู้ป้วยจำนวนมาก และเพื่อใช้ในการสอบสวนโรคทางระบาดวิทยา