สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ปี 2562 สถานการณ์ความยากจนในประเทศไทยโดยรวมดีขึ้น โดยมีคนจนจำนวน 4.3 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนคนจน 6.24 ของประชากรทั้งประเทศ ลดลงจาก 6.7 ล้านคน ในปี 2561 ทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการแก้ไขปัญหาความยากจนที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ก่อนสิ้นสุดแผน ซึ่งตามแผนกำหนดเป้าหมายสัดส่วนประชากรที่อยู่ใต้เส้นความยากจนลดลงเหลือ 6.5% เป็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการขยายมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ของภาครัฐ เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ
แม้สัดส่วนคนจนในภาพรวมจะมีแนวโน้มลดลง แต่การรักษาระดับสัดส่วนคนจนให้อยู่ในระดับต่ำต่อไปจนสิ้นแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป เนื่องจากในปี 2563 ประเทศไทยประสบกับภาวะวิกฤตโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานเป็นวงกว้าง และอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องยาวนานจนทำให้สถานการณ์ความยากจนเลวร้ายยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นข้อจำกัดสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในการลดสัดส่วนประชากรยากจนให้ต่อเนื่องถึงระยะสิ้นแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ได้
สำหรับสถานการณ์ที่ดีขึ้นครั้งนี้ ส่งผลให้ภาพรวมคนไทยมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 9,847 บาทต่อคน จากปี 2560 ที่มีรายได้เดือนละ 9,614 บาทต่อคน เพิ่มขึ้น 2.42% ขณะที่ครัวเรือนยากจนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดือนละ 2,823 บาทต่อคน ในปี 2560 เป็นเดือนละ 3,016 บาทต่อคน ในปี 2562 หรือเพิ่มขึ้น 6.81% ซึ่งสูงกว่าอัตราการขยายตัวของรายได้เฉลี่ยทั่วประเทศ ชี้ให้เห็นว่าผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในรอบปี ตกกับคนยากจนมากขึ้น