xs
xsm
sm
md
lg

สป.ยธ.แถลงค้านร่าง พ.ร.บ.ปฏิรูปตำรวจฯฉบับใหม่ขัด รธน.

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) ออกแถลงการณ์เรื่องคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ปฏิรูปตำรวจฉบับสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และขอให้นำฉบับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เสนอต่อสภาเพื่อการปฏิรูป แก้ปัญหาการทุจริต ประพฤติมิชอบของตำรวจผู้ใหญ่ที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อตำรวจผู้น้อยและประชาชน มีใจความดังนี้

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มติเมื่อ 15 กันยายน 2563 เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอแทนฉบับคณะกรรมการชุดนายมีชัย  ฤชุพันธ์ ร่างตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งแม้จะยังไม่ถือว่าเป็นการปฏิรูปตำรวจที่แท้จริงเนื่องจากขาดหลักการเรื่องตำรวจจังหวัด กำหนดให้ตำรวจต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบควบคุมของผู้ว่าราชการจังหวัด โดยผ่าน ”คณะกรรมการตำรวจจังหวัด” ตามหลักสากล  และสอดคล้องกับเสียงเรียกร้องของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลขจัดการทุจริตประพฤติมิชอบในวงการตำรวจอย่างจริงจัง ทั้งปัญหาการรับส่วยสินบนจากบ่อนการพนัน ตู้ม้า และแหล่งอบายมุขของตำรวจผู้ใหญ่ที่เป็นสาเหตุของอาชญากรรมมากมาย  รวมไปถึงปัญหาการสอบสวนที่พนักงานสอบสวนถูกผู้บังคับบัญชาสั่งให้ไม่รับแจ้งความ หรือกลั่นแกล้งแจ้งข้อหาประชาชนโดยมิชอบ หรือสอบสวน “ล้มคดี” เช่น กรณีเหตุการณ์ทำร้ายผู้กองปูเค็มเนื่องจากการไปตรวจสอบแจ้งให้ตำรวจจับกุมตู้ม้า รวมทั้งการทำลายพยานหลักฐานคดีบอสที่เป็นข่าวอื้อฉาวและที่ไม่เป็นข่าวอีกมากมาย

การเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าว นอกจากจะขัดต่อรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ในมาตรา 258 และ 260 ให้การปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรม ต้องดำเนินการโดยคณะกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งซึ่งกำหนดสัดส่วนผู้เป็นตำรวจไว้แล้ว เนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญในการปฏิรูปตามร่างเดิมหลายเรื่อง ยังถูกแก้ไขและตัดออกไปอีกด้วย ที่เห็นชัดในเบื้องต้นก็คือ

1.การแก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ ตามร่างฉบับนายมีชัยฯ ในมาตรา 15 ซึ่งยุบรวม ก.ตช. และ ก.ตร. เข้าด้วยกัน  มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน  โดย ผบ.ตร. และ รอง ผบ.ตร. ฝ่ายป้องกัน สอบสวน บริหาร จเรตำรวจแห่งชาติ อัยการสูงสุด ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม  อดีตตำรวจระดับ ผบช. ขึ้นไปห้าคนและบุคคลภายนอกสามคนที่ผ่านการเลือกตั้งจากข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรขึ้นไปทุกคนร่วมเป็นกรรมการ

2.องค์ประกอบ ก.ตร. ดังกล่าว กลับถูกสำนักงานตำรวจแห่งชาติแก้ไขในมาตรา 14 โดยให้ ผบ.ตร. เป็น รอง ประธาน และ รอง ผบ.ตร. ทุกคน จเรตำรวจแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ถึง 5 ตำแหน่ง (ไม่นับตำแหน่งเทียบเท่าซึ่งอาจปรับได้)เป็นกรรมการ โดยมีอัยการสูงสุด ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นบุคคลภายนอก 3 คนเช่นเดิม และลดสัดส่วนของอดีตตำรวจระดับ ผบช. ขึ้นไปที่มาจากการเลือกตั้งของตำรวจเหลือเพียง 3 คน

3. การกำหนดให้ ผบ.ตร.เป็นรองประธาน ก.ตร. แทนที่จะเป็นอัยการสูงสุด หรือปลัดกระทรวงมหาดไทยซึ่งมีฐานะเป็นกรรมการนั้น  เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องตามแบบธรรมเนียมการบริหารราชการแผ่นดินที่อัยการสูงสุดและปลัดกระทรวงมหาดไทยถือว่าเป็นผู้มีสถานะสูงกว่า ผบ.ตร.โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาถึงสถานะความเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนตาม ป.วิ อาญา รวมทั้งอำนาจในการสั่งคดีที่ ผบ.ตร. ต้องเสนอสำนวนการสอบสวนที่ตนมี ความเห็นแย้งพนักงานอัยการให้อัยการสูงสุดชี้ขาด

4. นอกจากนั้นสิทธิในการเลือก ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิ 8 คน ที่กำหนดให้ตำรวจชั้นสัญญาบัตรขึ้นไปมีสิทธิเลือก ก็ถูกแก้ไขให้เป็นตำรวจระดับรองผู้กำกับการขึ้นไป  เป็นการตัดสิทธิของตำรวจชั้นสัญญาบัตรระดับรองสารวัตรถึงสารวัตรทั่วประเทศซึ่งมีจำนวนรวมกว่าห้าหมื่นคน และไม่สามารถสะท้อนความต้องการของข้าราชการตำรวจที่แท้จริงเท่ากับร่างเดิม

5. องค์ประกอบของ ก.ตร. มีสัดส่วนของตำรวจผู้ใหญ่ทั้งในและนอกราชการถึง 9 คน จากคณะกรรมการรวม 18 คนดังกล่าว โดยเฉพาะ รอง ผบ.ตร. ทุกคนซึ่งมีฐานะเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ ผบ.ตร. โดยตรง เพิ่มขึ้นจาก 3 คน เป็น  5 คน และอาจเพิ่มอีกได้ตามการปรับชื่อตำแหน่ง  จะส่งผลทำให้การออกกฎและระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจหลายเรื่องที่ถูกร่างฉบับของสำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดให้กระทำโดยมติ ก.ตร. เช่น การกำหนดให้ตำรวจบางหน่วยไม่มียศ  การโอนงานตำรวจเฉพาะทาง 13 หน่วยไปให้กระทรวง ทบวง กรมที่รับผิดชอบ และอื่นๆ อีกหลายเรื่อง เป็นไปได้ยากอย่างยิ่ง

6. ประเด็นการแยกงานสอบสวนให้มีสายการบังคับบัญชาและการสั่งคดีต่างหากจากงานตำรวจ  ป้องกันมิให้ถูกแทรกแซงจากผู้บังคับบัญชาฝ่ายตำรวจ  เนื่องจากสามารถกลั่นแกล้งแต่งตั้ง โยกย้ายพนักงานสอบสวนที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมายได้ง่าย  ก็ถูกสำนักงานตำรวจแห่งชาติตัดออกไปพร้อมกับวิธีประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยตำรวจโดยภาคประชาชนที่จะทำให้ตำรวจต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตและตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นมากขึ้น

สป.ยธ. จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีใช้ความกล้าหาญและเด็ดขาดในการปฏิรูปตำรวจให้เป็นตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้  โดยนำร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับที่คณะกรรมการชุดนายมีชัย ฤชุพันธ์  ซึ่งได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนมาแล้วมากมาย แม้กระทั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติเอง  เสนอต่อสภาเพื่อตราเป็นกฎหมายบังคับใช้โดยเร็ว