xs
xsm
sm
md
lg

“ธนาธร”ชี้มูลนิธิปิดทองหลังพระใช้งบซ้ำซ้อน ไม่สอดรับการบริหารราชการแผ่นดิน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรค อนาคตใหม่ โพสต์เฟซบุ๊ก Thanathorn Juangroongruangkit - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวข้อ[ มูลนิธิปิดทองหลังพระ: ภารกิจและงบประมาณที่ซ้ำซ้อนไม่สอดรับกับการบริหารราชการแผ่นดิน ] ระบุว่า สำนักนายกรัฐมนตรีได้ตั้งงบประมาณเพื่อสนับสนุนการทำงานของ “มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ” สำหรับปีงบประมาณ 2564 เป็นจำนวนเงิน 287 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณรายการนี้ถูกตัดไปในชั้นอนุกรรมาธิการอบรมสัมมนาฯ เมื่อวานนี้ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ทางสำนักนายกรัฐมนตรีได้ขออุทธรณ์เพื่อไม่ให้ตัดงบสนับสนุนมูลนิธิปิดทองหลังพระ

งบประมาณรายการนี้ ผมเห็นว่ามีปัญหาทั้งในเชิงรายการและเชิงระบบ ผมจึงยืนยันให้ตัดงบรายการนี้ตามการนำเสนอของอนุกรรมาธิการ แต่ที่ประชุมกรรมาธิการงบชุดใหญ่เห็นชอบตามคำอุทธรณ์ คืนงบประมาณให้มูลนิธิปิดทองหลังพระ ผ่านสำนักนายกรัฐมนตรีตามที่ขอแต่แรก

มูลนิธิปิดทองหลังพระคือมูลนิธิที่จัดตั้งตามมติคณะรัฐมนตรีในปี 2552 เพื่อส่งเสริมให้การพัฒนาตามแนวทางพระราชดำริ เป็นแนวทางการพัฒนาหลักของประเทศ

-ในปี 2554 รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ได้อนุมัติเงินจำนวน 1,500 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนมูลนิธิปิดทองหลังพระ ระยะที่ 1 เป็นเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2554-2558 ปีละ 300 ล้านบาท เท่าๆกัน
-ในปี 2559 รัฐบาลคุณประยุทธ์ที่มาจากการทำรัฐประหาร ได้อนุมัติเงินอีก 1,500 ล้านบาท สำหรับการดำเนินการของมูลนิธิในระยะที่ 2 ตั้งแต่ปี 2559-2563 ปีละ 300 ล้านบาท เท่าๆ กัน

รวมสองระยะ มูลนิธิได้รับเงินสนับสนุนจากภาษีประชาชนไปแล้ว 3,000 ล้านบาท

ในปีงบประมาณ 2564 มีการขอเงินสนับสนุนมูลนิธิปิดทองหลังพระ 287 ล้านบาท จากเดิมที่ขอปีละ 300 ล้านบาท ผมเข้าใจว่ามาจากการขอตัดลดเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจช่วงโควิด

แต่ผมก็ยังไม่เห็นด้วยกับงบประมาณรายการนี้ และขอยืนยันการตัดสินใจตัดงบประมาณรายการนี้ในชั้นอนุกรรมาธิการ ด้วยเหตุผลดังนี้

ข้อแรก หน้าที่ของมูลนินี้ธิซ้ำซ้อนกับหน้าที่ของหน่วยงานอื่นๆ ที่เป็นของรัฐ การให้เงินสนับสนันเพื่อภารกิจ มีโครงสร้างรูปแบบกองทุนหรือองค์กรมหาชนที่รองรับอยู่แล้ว เช่นกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) หรือ สถาบันพัฒนาชุมชน เป็นต้น หากต้องการบริหารจัดการเรื่องใดเป็นพิเศษและคล่องตัว รัฐบาลสามารถใช้กลไลปกติได้ ไม่จำเป็นต้องให้มูลนิธิที่มีสถานะเป็นเอกชนมาจัดการงบประมาณจำนวนมากติดต่อกันเป็นสิบปีเช่นนี้

มูลนิธิดังกล่าวมีสถานะเป็นเอกชน กรรมการมูลนิธิเป็นผู้มียศถาบรรดาศักดิ์และข้าราชการระดับสูง โดยกรรมการสถาบันที่ขับเคลื่อนนโยบายของมูลนิธิส่วนใหญ่ก็เป็นข้าราชการระดับสูง ไม่ต่างอะไรกับการตั้งกรรมการชุดต่างๆ ของรัฐบาล

กล่าวโดยง่ายก็คือ มูลนิธิมีภารกิจเหมือนหน่วยงานรัฐ, ใช้เงินภาษีประชาชนเหมือนหน่วยงานรัฐ, หน่วยปฏิบัติการใช้หน่วยงานราชการของรัฐผ่านข้าราชการระดับสูง แต่สถานะเป็น “เอกชน”

หากงบประมาณก้อนนี้ ถูกนำไปให้กับหน่วยงานของรัฐ, คณะกรรมาธิการพิจาราณางบประมาณฯ หรือ ส.ส. สภาผู้แทนราษฎรก็จะสามารถตรวจสอบความโปร่งใส, ประสิทธิภาพของการใช้ และการตอบสนองกับความต้องการของประชาชนได้ แต่เมื่อนำงบประมาณส่วนนี้ให้กับมูลนิธิที่มีสถานะเป็นเอกชนแล้ว ตัวแทนของประชาชนไม่สามารถตรวจสอบการใช้ได้เลย

ไม่ใช่แค่หน้าที่หรือภารกิจอย่างเดียวที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยราชการอื่น งบประมาณก็ซ้ำซ้อนเช่นกัน รัฐบาลจัดสรรงบเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอยู่แล้ว โดยโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในปี 2550 มีงบประมาณทั้งสิ้น 2,000 ล้านบาท, ในช่วงปี 2551-2557 มีจำนวนปีละ 2,300 ล้านบาท และในช่วงปี 2558-2564 มีจำนวนอีกปีละ 2,500 ล้านบาท

นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐอื่นยังมีการของบประมาณที่เกี่ยวข้องกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอีกเป็นจำนวนมาก ที่นอกเหนือจากงบประมาณข้างต้น และมีหน่วยราชการ “สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” หรือ กปร. ซึ่งมีหน้าที่คอยกำกับและประสานโครงการทั้งหมด ซึ่ง กปร. เองก็ได้รับการจัดสรรงบประมาณอีกในปี 2564 จำนวน 965 ล้านบาทเพื่อกำกับ-อุดหนุน-ประสานงานดังกล่าว

ผมเห็นว่าเงินและทรัพยากรอื่นที่รัฐจัดสรรให้กับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้งในส่วนของงบกลางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้นมีมากพออยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเพิ่มให้เอกชนทำอีก

ข้อที่สอง มูลนิธิมีเงินสดเพียงพอที่จะจัดกิจกรรมตามกรอบค่าใช้จ่ายเดิมอีก 5 ปี โดยไม่ต้องของงบประมาณจากภาษีประชาชน

อ้างอิงจากรายงานประจำปี 2562 ซึ่งเป็นรายงานล่าสุด ใน 10 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิใช้เงินที่ได้รับจากรัฐไม่หมด โดยมูลนิธิได้รับไปแล้ว 3,000 ล้านบาท มีรายรับมากกว่ารายจ่ายสะสม 1,223 ล้านบาท(หากเป็นบริษัทเอกชน รายได้มากกว่ารายจ่ายสะสมเรียกว่ากำไรสะสม) ซึ่งจำนวนนี้ หลักๆ เป็นเงินสด 114 ล้านบาท และเงินลงทุนชั่วคราว(เงินฝากและลงทุนระยะสั้น) 1,046 ล้านบาท บริษัทมีหนี้สินทั้งระยะสั้นและยาวเพียง 19.7 ล้านบาท

ในสี่ปีล่าสุด มูลนิธิมีรายได้เฉลี่ยต่อปี 320 ล้านบาท (เงินสนุบสนุนจากรัฐบวกด้วยดอกเบี้ยรับ ไม่มีรายได้จากการบริจาคหรือจากที่อื่นที่สำคัญ) มีรายจ่ายเฉลี่ยต่อปี 241 ล้านบาท มูลนิธินี้ใช้เงินไม่หมดหรือไม่ทันทำให้รายรับมากกว่ารายจ่ายเฉลี่ยปีละ 79 ล้านบาท

หากนำรายรับที่ใช้ไม่หมดในระยะสิบปี 1,200 ล้านบาทเป็นตัวตั้ง หารด้วยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยสี่ปีหลังสุด 241 ล้านบาทต่อปี จะได้จำนวน 4.9 ปี

พูดง่ายๆ ก็คือ มูลนิธิสามารถใช้เงินเท่าเดิม ดำเนินการได้อีก 5 ปี โดยไม่ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐ เงินสะสมที่ใช้ไม่หมดจากการทำงาน 10 ปีที่ผ่านมานั้น เพียงพอสำหรับการทำงานไปอีก 5 ปี

ข้อที่สาม การพิจารณางบประมาณซึ่งมาจากภาษีของประชาชน ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเพื่อประสิทธิภาพและด้วยความเป็นธรรม เพื่อนกรรมาธิการ คุณหมอเอกภพ เพียรพิเศษ ได้ยกตัวอย่างกรณีสำนักงานการแพทย์ฉุกเฉิน ที่มีภารกิจในการช่วยเหลือประชาชนเหมือนกัน มีเงินสะสมเพียงพอต่อการดำเนินการเหมือนกัน แต่กลับถูกตัดงบสนับสนุน แล้วหลักการมาตรฐานของการพิจารณางบประมาณนั้นเป็นแบบไหนกันแน่ ทำไมองค์กรที่มีสถานะเงื่อนไขคล้ายกันทางด้านงบประมาณแต่ถูกปฏิบัติไม่เหมือนกัน

ผมเห็นว่ามูลนิธิปิดทองหลังพระรวมถึงโครงการในพระราชดำริอื่นไม่ควรเป็นข้อยกเว้นและได้รับการปฏิบัติเหมือนกับงบประมาณรายการอื่นๆ เพื่อปกป้องไม่ให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ

ด้วยเหตุผลข้างต้นนี้ ผมจึงยืนยันการพิจารณาของอนุกรรมาธิการที่ให้ตัดลดโครงการนี้ในปีงบประมาณ 2564 และในปีต่อๆ ไป

อนึ่ง ผมจำเป็นต้องออกตัวในที่นี้ ว่ากิจกรรมหรือโครงการต่างๆ ของมูลนิธิจะมีประโยชน์ใช้เงินจากภาษีประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นหรือเหตุผลที่ผมเสนอตัด โครงการของมูลนิธิปิดทองหลังพระจะมีประโยชน์และมีประสิทธิภาพหรือไม่ ผมไม่อาจตอบได้เพราะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เพียงพอได้