พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงให้ความสำคัญและทรงห่วงใยครอบครัวข้าราชบริพารที่ยังว่างงาน และที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประกอบกับเพื่อใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ด้วยการฝึกวิชาชีพสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัวอีกทางหนึ่ง จึงได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทานจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอาชีพครอบครัวข้าราชบริพาร ในเขตพระราชฐานวิภาวดี เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร เพื่อดำเนินการด้านการตัดเย็บเครื่องแต่งกาย ชุดจิตอาสา ได้แก่ หมวก และผ้าพันคอ อันเป็นการสนับสนุนภารกิจจิตอาสาพระราชทาน เราทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์
โดยในวันนี้ 28 สิงหาคม 2563 เวลา 09.17 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลอากาศเอก สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นประธานเปิดศูนย์ส่งเสริมอาชีพครอบครัวข้าราชบริพาร เพื่อความเป็นสิริมงคลของสมาชิก ผู้ปฏิบัติหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งยังเป็นการเอื้อประโยชน์ต่องานด้านจิตอาสา เกิดการจ้างแรงงาน การเรียนรู้ทางวิชาชีพ การใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เกิดความรักในอาชีพ มีความสามัคคีร่วมกันทำงานด้านจิตอาสาให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ และสังคมอย่างยั่งยืนสืบไป ดังพระราชปณิธานที่ทรงพระราชปรารถนาให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข
สำหรับศูนย์ส่งเสริมอาชีพครอบครัวข้าราชบริพารได้เริ่มจัดให้มีการฝึกอบรม เรียนรู้การตัดเย็บมาตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 เป็นต้นมา โดยคัดเลือกจากสมาชิกภายในครอบครัวของข้าราชบริพารที่ว่างงานและได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งผู้ที่เข้ารับการสมัครไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานเรื่องการตัดเย็บมาก่อนก็ได้ ขอเพียงมีใจรักในงานตัดเย็บเป็นที่ตั้ง จากนั้นเมื่อผ่านการคัดเลือกแล้วก็จะให้ผู้สมัครทุกคนไปศึกษาทดลองการตัดเย็บหมวกที่โรงงานผลิตอุตสาหกรรมด้านนี้โดยตรง ส่วนฝ่ายผลิตผ้าพันคอก็จะส่งไปศึกษางานที่โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า เป็นเวลา 2 เดือน เมื่อผ่านการฝึกอบรมโดยโรงงาน และช่างที่มีประสบการณ์แล้วสมาชิกศูนย์ส่งเสริมอาชีพ ก็จะมาดำเนินการตัดเย็บเครื่องแต่งกาย ชุดจิตอาสา ที่ประกอบด้วย หมวก และผ้าพันคอ ที่ศูนย์ส่งเสริมอาชีพครอบครัวข้าราชบริพาร ในเขตพระราชฐานวิภาวดี ปัจจุบันมีสมาชิกเข้าร่วมการฝึก และประจำศูนย์ รวม 30 คน โดยได้ค่าจ้างเท่ากับแรงงานขั้นต่ำเฉลี่ยวันละประมาณ 400-500 บาท ต่อคนตามแต่ความละเอียดของชิ้นงาน
ตลอดระยะเวลาเกือบ 3 เดือนนับจากวันที่สมาชิกทุกคนเข้าร่วมโครงการ ผลสัมฤทธิ์ของศูนย์ส่งเสริมอาชีพครอบครัวข้าราชบริพาร ได้ส่งผลให้ครอบครัวพ่อแม่ลูกหลานข้าราชบริพารในพระองค์ทุกคนล้วนมีความปลาบปลื้มน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานอาชีพ เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวอย่างยั่งยืน และเปี่ยมสุข อีกทั้งยังช่วยเพิ่มทักษะการเรียนรู้เรื่องการตัดเย็บให้แก่ตนเอง เพื่อนำไปใช้ในการประกอบสัมมาชีพได้ต่อไปในอนาคต
นางปราณีต เพียซ้าย วัย 55 ปี ผู้เป็นมารดาของข้าราชบริพารในพระองค์ฯ ที่ก่อนหน้านี้เคยรับจ้างทำงานอยู่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง แต่เจอพิษการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เธอจึงถูกเลิกจ้างไปชั่วคราวในวินาทีนั้นเต็มไปด้วยความหดหู่ในชีวิต เพราะขาดรายได้มาจุนเจือครอบครัว แต่เมื่อลูกมาบอกว่าในหลวงและสมเด็จพระราชินีโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอาชีพครอบครัวข้าราชบริพาร เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวที่ว่างงานได้มีอาชีพและรายได้จึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกในทันที
แม้ก่อนหน้านี้พอจะมีฝีมือการเย็บปักถักร้อยติดตัวตามประสาแม่บ้านอยู่บ้างก็ตาม แต่พอได้เข้าไปเรียนรู้การตัดเย็บหมวกที่โรงงานอย่างจริงจังจึงทำให้รู้ว่ากว่าที่จะได้หมวกจิตอาสามาแต่ละใบนั้นต้องผ่านกรรมวิธีหลายขั้นตอน
“ตอนที่เข้าไปศึกษาและเรียนรู้งานที่โรงงานทำให้เรารู้สึกว่ากว่าจะได้หมวกออกมาแต่ละใบต้องผ่านกระบวนการทำหลายขั้นตอน และเป็นงานที่ละเอียดมาก อย่างป้ารับหน้าที่เป็นช่างกุ๊นหมวกเรารู้ทันทีว่าเป็นงานที่ละเอียด และซับซ้อนมากกว่าจะกุ๊นได้ 1 ใบ แต่พอเราเรียนรู้ตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา ทำให้พอมีทักษะในการกุ๊นหมวกและเย็บหมวกได้ นับเป็นความภูมิใจอีกอย่างในชีวิตของเรา เพราะนอกจากเราจะมีรายได้มาจุนเจือครอบครัวในยามลำบากแล้ว เรายังภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการตัดเย็บหมวกจิตอาสา พระราชทาน อันเป็นโครงการที่ในหลวงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้น เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ราษฎรของพระองค์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”
ขณะที่ นายญาต์ณวรุตม์ ไวศยภักดีกุล บัณฑิตใหม่เพิ่งเรียนจบระดับชั้นปริญญาตรี คณะนิเทศศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งหนึ่ง เมื่อเรียนจบปริญญาตรีจึงเข้ารับคัดเลือกเกณฑ์ทหาร และมาปลดประการในช่วงที่ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดพอดี จึงไม่สามารถไปสมัครงานที่ไหนได้ และเมื่อญาติพี่น้องแจ้งข่าวให้ทราบว่ามีโครงการศูนย์ส่งเสริมอาชีพครอบครัวข้าราชบริพาร จึงมาสมัครอย่างไม่รีรอ เพราะนอกจากจะมีรายได้พิเศษมาช่วยเหลือครอบครัวอีกทางหนึ่งแล้ว ยังเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองอีกด้วย
“พอปลดประจำการทหารเกณฑ์มาผมก็ส่งใบสมัครงานไปยังที่ต่างๆ แต่ยังไม่มีการตอบรับกลับมา เพราะเป็นช่วงที่ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดหนักมาก ผมจึงหายใจทิ้งอยู่ช่วงหนึ่ง กระทั่งคุณลุงที่เป็นข้าราชบริพารในพระองค์มาบอกว่าในหลวง และ สมเด็จพระราชินี โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งศูนย์ส่งเสริมอาชีพครอบครัวข้าราชบริพาร เพื่อให้ลูกหลานข้าราชบริพารที่ตกงาน และได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ได้มีงานทำช่วงที่ว่างงานจึงตัดสินใจเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกของศูนย์ในทันที”
จากเด็กหนุ่มที่ไม่เคยมีทักษะเรื่องการตัดเย็บมาก่อน แต่เมื่อมีโอกาสได้เข้าไปเรียนรู้งานด้านการตัดเย็บที่โรงงานจริงผ่านการสอนโดยช่างที่มีประสบการณ์ ตลอดระยะเวลาสองเดือนแห่งการเรียนรู้จึงทำให้เขาสามารถตัดผ้าสำหรับมาประกอบเป็นหมวกจิตอาสาได้อย่างประณีต
“เราไม่เคยหยิบเข็มกับด้ายมาก่อนเลย แต่พอไปฝึกอบรมที่โรงงานเขาได้สอนเทคนิคการตัดผ้าให้ผมหลายอย่าง จนทุกวันนี้สามารถตัดผ้าสำหรับทำหมวกจิตอาสาได้ครั้งและ30ชิ้น ซึ่งที่ผ่านมาเราเคยเห็นแต่หมวกที่ทำสำเร็จแล้ว แต่พอเราได้มาลองทำเองจริงๆ จึงรู้ว่าเป็นงานที่ปราณีตและละเอียดมากในทุกขั้นตอนเราต้องใช้เทคนิคในการตัดผ้าให้พอดีกับจำนวนมีดซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการมาทำงานที่นี้”
นอกเหนือจากการมีวิชาชีพติดตัวแล้ว ยังมีอีกสิ่งที่นายญาต์ณวรุตม์ มีความประทับใจและซาบซึ้งใจมากที่สุดในชีวิต คือการได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลิตหมวกจิตอาสา อันเป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดตั้งขึ้น เพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอด พระราชปณิธานในพระบรมชนกนาถ เพื่อให้อาณาราษฎรมีชีวิตอยู่ภายใต้ร่มพระบารมีอย่างยั่งยืนและสืบไป
“ผมรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่พระราชทานศูนย์ส่งเสริมอาชีพฯ ขึ้นมา เพราะไม่เพียงแต่จะทำให้ลูกหลานครอบครัวของข้าราชบริพารมีรายได้มาจุนเจือครอบครัวอีกทางหนึ่งแล้ว ผมยังภูมิใจที่สุดที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการตัดเย็บหมวกจิตอาสา เพราะเป็นงานที่พวกเราทุกคนล้วนตั้งใจทำด้วยความปราณีตเพื่อให้หมวก หรือผ้าพันคอ ที่เป็นเครื่องแบบประจำกายของจิตอาสาพระราชทาน ดูสวยงามสมพระเกียรติองค์ผู้ก่อตั้งมากที่สุด” นายญาต์ณวรุตม์ เล่าด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ