มหาสารคาม - จ.มหาสารคามเปิดตัว “กลุ่มทอผ้าไหมผ้าฝ้ายบ้านห้วยทราย” วิสาหกิจชุมชนหมู่บ้านทำมาค้าขาย หลังได้รับต่อยอดพัฒนาสินค้า บริหารจัดการ ขยายช่องทางตลาด จนประสบความสำเร็จยกระดับชุมชนดำเนินธุรกิจได้เข้มแข็งยั่งยืน
วันนี้ ( 26 ส.ค.) ที่บ้านห้วยทราย ต.นาเชือก อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม นายธัญญวัฒน์ ชาญพินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานเปิดตัววิสาหกิจชุมชนภายใต้โครงการหมู่บ้านทำมาค้าขายแห่งใหม่ ซึ่งบ้านห้วยทราย ต.นาเชือก เป็น 1 ใน 5 หมู่บ้านทำมาค้าขายแห่งใหม่จากเดิม 20 หมู่บ้าน ต่อยอดพัฒนาองค์ความรู้ เพิ่มศักยภาพดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
นายธัญญวัฒน์ ชาญพินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าไหมผ้าฝ้ายบ้านห้วยทรายขึ้นชื่อว่ามีฝีมือเป็นเลิศด้านการทอผ้าไหมที่ยังสืบสานภูมิปัญญาด้านผ้าไหมที่ตกทอดมาหลายชั่วอายุคน เส้นไหมมีความเหนียวนุ่ม เงางาม ย้อมด้วยสีธรรมชาติจากต้นไม้ประจำท้องถิ่น มีลายผ้าที่ได้รับความนิยม คือลายสร้อยดอกหมาก เป็นลายเอกลักษณ์ประจำจังหวัด และลายปูแป้งห้วยทราย เป็นลายประยุกต์
แต่ยังประสบปัญหาในการแปรรูปเป็นเสื้อผ้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ โครงการหมู่บ้านทำมาค้าขาย โดยกรมการค้าภายใน จึงเข้ามาช่วยติดอาวุธภูมิปัญญา ต่อยอดและพัฒนาศักยภาพด้านการตัดเย็บเสื้อผ้าให้แก่ชุมชนเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์
ด้านนางสาวจันทร์ธิดา กลัมพากร ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาตลาดท้องถิ่น กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า โครงการ “หมู่บ้านทำมาค้าขาย” โดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 มีเป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพให้แก่วิสาหกิจชุมชนในการประกอบธุรกิจในทุกด้านอย่างแท้จริง ทั้งด้านการตลาด การพัฒนาสินค้า การบริหารจัดการ และขยายช่องทางการตลาด จนประสบความสำเร็จในการยกระดับชุมชนสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างเข้มแข็งยั่งยืน
มีชุมชนเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 25 แห่ง โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าไหม-ผ้าฝ้ายบ้านห้วยทราย จังหวัดมหาสารคาม เป็น 1 ใน 5 หมู่บ้านทำมาค้าขายแห่งใหม่ที่เข้าร่วมโครงการในปี 2563 โดยกรมการค้าภายในได้เชิญ รศ.ดร.น้ำฝน ไล่สัตรูไกล ศิลปินนักออกแบบสิ่งทอ เจ้าของรางวัล Designer of the Year มาช่วยออกแบบลายผ้าไหมรูปแบบใหม่ ออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ร่วมสมัย
รวมทั้งประยุกต์เศษผ้าไหมเหลือใช้ให้เป็นกระเป๋าและเครื่องประดับ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับสินค้าให้ทันสมัยสวยงามตรงต่อความต้องการ เป็นการเพิ่มรายได้ให้ชุมชน ตามนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ ส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้ท้องถิ่นเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคง