นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล หัวข้อ[ ห้วงเวลาปฏิวัติ - Revolutionary Moment ] ระบุว่า การปฏิวัติจะบังเกิดได้ในห้วงเวลาประวัติศาสตร์ที่ประชาชนจำนวนมหาศาลเกิดความรู้สึกนึกคิดร่วมกันในสองมิติ ได้แก่ มิติแห่งความโกรธแค้น และมิติแห่งความหวัง ประชาชนคับแค้นใจกับสิ่งที่ดำรงอยู่ พร้อมกับมีความหวังร่วมกันในการไปก่อตั้งสิ่งใหม่ ทั้งสองความรู้สึกนึกคิดนี้ผสานหลอมรวมกันในความคิดจิตใจของประชาชน จนผลักดันให้ร่วมกันออกไปกระทำการ สิ่งนั้น คือ “ปฏิวัติ” หากไม่โกรธแค้น ก็จะไม่ทำลายสิ่งที่เป็นอยู่ หากไม่มีความหวัง ก็จะไม่สรรค์สร้างสิ่งใหม่เข้าแทนที่ หากไม่โกรธแค้น ก็จะเฝ้าแต่อดทนรอเวลา ฝันล้มๆแล้งๆว่า สิ่งใหม่จะมาตามกาลเวลา
หากไม่มีความหวัง ก็จะมุ่งแต่ทำลายล้างโดยไม่เตรียมการสร้างสิ่งใหม่ การปฏิวัติจึงจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยจากความโกรธแค้นและความหวัง มันจึงเป็นเหรียญเดียวกันที่มีสองหน้า หน้าหนึ่ง การทำลายล้างสิ่งที่เป็นอยู่ให้พังภินท์ อีกหน้าหนึ่ง การก่อตั้งสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเดิมเข้าแทนที่ Evolution หรือที่ในภาษาไทยแปลว่า “วิวัฒนาการ” ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่า “กระบวนการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อไปสู่สภาวะที่ดีขึ้นหรือเจริญขึ้น” พัฒนาการเกิดขึ้นอย่างช้าๆ นี้ไม่สามารถตอบสนองต่อห้วงเวลาทางประวัติศาสตร์ที่ประชาชนเกิดความรู้สึกร่วมกันว่า “ไม่ทนกับสิ่งที่เป็นอยู่” และ “ปรารถนาสร้างสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเดิม” เมื่อไรก็ตามที่ความรู้สึกเช่นนี้ปรากฏขึ้นร่วมกันในหมู่ประชาชน พวกเขา คนส่วนน้อยที่ถือครองอำนาจและครอบงำสังคมอยู่ ก็จะโฆษณาชวนเชื่อให้ประชาชนเชื่อใน “evolution-พัฒนาการ” ให้เห็นว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปตามลำดับขั้นตอนอย่างช้าๆได้ . ดังนั้น ประชาชนจีงมีภารกิจร่วมกันแบกตัว “R” เข้าไปใส่หน้า evolution ให้ “Evolution” กลายเป็น “Revolution” ให้ “พัฒนาการที่ล่าช้า” กลายเป็น “การเปลี่ยนแปลงอย่างถึงราก” ให้ “ความเป็นไปไม่ได้” กลายเป็น “ความเป็นไปได้”