ศาลอาญารัชดานัดฟังคำสั่งไต่สวนมูลฟ้อง คดี อ.94/2563 ที่ พ.ต.อ.ไพรัตน์ ไพพรรณรัตน์ รองผู้บังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 อดีตรอง ผบก.ภ.เพชรบุรี ยื่นฟ้อง พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326, 328 และ 332
คำฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ โจทก์เคยรับราชการอยู่ในตำแหน่งรองผู้บังคับการวิทยาลัยการตำรวจกองบัญชาการศึกษาในห้วงตั้งแต่ 16 พ.ค. 2560 - 15 มี.ค. 2561 มีหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลปกครองข้าราชการตำรวจที่เข้ามารับการอบรมในหลักสูตรผู้กำกับการหลักสูตรสารวัตร หลักสูตรอำนวยการ ซึ่งจะเข้ามาฝึกอบรมที่วิทยาลัยตำรวจประจำแต่ละปี โดยโจทก์ได้ทำหน้าที่ควบคุมในห้วงเวลาดังกล่าว ขณะเกิดเหตุจำเลยชื่อ พ.ต.อ.กฤษณะ มีหน้าที่ให้ข่าวต่างๆ ที่เกี่ยวกับกิจการตำรวจ และนำเสนอเรื่องราวที่สื่อและประชาชนให้ความสนใจ เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2563 หลังจากจำเลยได้ดูได้ฟังการให้สัมภาษณ์ของโจทก์กับรายการทีวีที่โจทก์ให้สัมภาษณ์ว่าถูกย้ายจากภาค 7 ไปอยู่ภาค 9 จึงจะไปดำเนินคดีกับ ผบ.ตร.ที่กลั่นแกล้งย้ายโจทก์โดยมีเหตุจูงใจโกรธเคือง ว่า โจทก์ไม่ไว้ทรงผมให้ถูกระเบียบ ก็ได้มีนักข่าวมาสัมภาษณ์จำเลย เพราะจำเลยเป็นรองโฆษก ตร.ถึงกรณีที่โจทก์ถูกย้าย
ซึ่งจำเลยได้ยืนยันข้อเท็จจริงใส่ความโจทก์ โดยการโฆษณาว่า จำเลยทั้งในฐานะรองโฆษกและในฐานะส่วนตัวได้บังอาจใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามโดยการโฆษณา ให้สัมภาษณ์ออกสื่อหลายช่องทาง ทั้งหนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์ และสถานีโทรทัศน์อีกทั้งช่องทางกลุ่มไลน์ทั่วๆ ไป ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยยืนยันข้อเท็จจริงกับสื่อมวลชนกรณีที่โจทก์ถูกย้ายจากภาค 7 ไปอยู่ภาค 9 ว่า มีข้อความทำนองว่า “ต้องย้อนกลับไปดูว่าตัวเอง (หมายถึงโจทก์) ที่ถูกโยกย้ายไปตัวเอง (หมายถึงโจทก์) มีพฤติกรรมอย่างไรไปดูสิ่งที่ผ่านมานั้น มันมีปัญหาอะไร เขาสั่งให้ตัดผมจนมีคำสั่งออกมาเป็นระเบียบการที่ตัวเอง (หมายถึงโจทก์) ไปพูดปลุกปั่น ให้กับนักเรียนที่เข้าอบรมหลักสูตรผู้กำกับที่วิทยาลัยการตำรวจนั้นไปปลุกปั่น ว่า ไม่ต้องไปตัดผมตามระเบียบมันใช้ได้หรือไม่อย่างไรมีวินัยหรือเปล่าคุณต้องไปดูด้วย ” ซึ่งเป็นความเท็จทั้งสิ้น ซึ่งความจริงคือโจทก์ไม่เคยปลุกปั่นให้นักเรียนที่เข้าอบรมผู้กำกับหรือหลักสูตรใดๆ ที่เข้ามารับการอบรมและอยู่ในความปกครองโจทก์แต่อย่างใด ซึ่งการกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงถูกเพื่อนข้าราชการตำรวจและประชาชน รวมทั้งหน่วยงานราชการอื่นๆ สื่อมวลชนอีกทั้งเพื่อนนักเรียนนักศึกษา วปอ. รุ่นที่ 62 ที่โจทก์ร่วมศึกษาอยู่ดูหมิ่นเกลียดชัง เสื่อมความนิยมโจทก์เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงภาพลักษณ์ของการเป็นข้าราชการ ถูกมองว่าเป็นคนไม่มีวินัยกระด้างกระเดื่อง ทำผิดระเบียบอันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นด้วยการโฆษณา
ซึ่งวันนี้โจทก์ไม่ได้มาฟังคำสั่งด้วยตัวเอง โดยศาลพิจารณาหลักฐานของพยานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มูล พิพากษายกฟ้อง