นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานที่ปรึกษาแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก “อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ”หัวข้อ "13 ปี การต่อสู้ของ นปช. (2)" ระบุว่า องค์กรนำการเคลื่อนไหวของประชาชนที่เป็นรูปการ มีนโยบาย มีการนำการเคลื่อนไหวทั่วโลกและในประวัติศาสตร์นั้น โดยทั่วไปจะดำรงอยู่ระยะสั้น ต่อสู้เป็นเรื่องๆ ถ้าไม่ชนะก็แพ้แล้วเลิกราไป ในเรื่องใหม่ๆ วาระใหม่ๆ ก็จะเกิดขบวนการใหม่ ชื่อใหม่ และผู้นำใหม่
นปช. จัดว่าเป็นองค์กรเคลื่อนไหวมวลชนที่มีอายุนานมาก (ค่อนข้างผิดธรรมชาติการต่อสู้ของประชาชน ยกเว้นขบวนการปฏิวัติที่มีพรรคปฏิวัตินำ) 13 ปี การต่อสู้ของ นปช. กับระบอบอำมาตยาธิปไตยที่มีการทำรัฐประหารจากกองทัพช่วยเปิดทางและค้ำจุนระบอบ ถือว่ายาวนาน
พรรคนายทุนที่เป็นปฏิปักษ์กับระบอบอำมาตย์อำนาจนิยมก็มีอายุยาวนาน ผลัดเปลี่ยนชื่อ ไม่มีทีท่าว่าจะตาย กลับจะผลัดใบแตกกิ่งแตกสาขา นี่ต้องถือว่าเป็นคู่ต่อสู้กับระบอบอำมาตย์ที่แข็งแรง ไม่แพ้ ไม่เลิกรา ในทางยุทธศาสตร์
ทบทวนว่าการเติบโตจากเครือข่ายต้านรัฐประหารปี 2550 พัฒนาไปสู่องค์กรที่มีหลักนโยบาย มีการนำระดับต่าง ๆ มียุทธศาสตร์ มีการบ่มเพาะมวลชนและสร้างแกนนำการนำทั่วประเทศ เกิดเป็นขบวนการใหญ่โต
การถูกปราบปี 2552 มาสรุปบทเรียนความไม่เป็นเอกภาพ พัฒนาในปี 2553 จนเกิดการชุมนุมขนาดใหญ่ยาวนานร่วม 2 เดือน มีขบวนแรลลี่เสื้อแดงเต็มท้องถนนในกรุงเทพฯ เอาเป็นว่าคนมาเรียกร้องสันติวิธี มามากเท่าไหร่...รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและระบอบอำมาตย์ฯ ก็ไม่แยแส
เมื่อผ่านการปราบปรามเข่นฆ่าในปี 2553 อย่างโหดเหี้ยม มีคนตายบาดเจ็บมากที่สุดในประวัติศาสตร์การลุกขึ้นสู้ทางการเมือง ตั้งแต่ในปี 2554 ก็มีการชุมนุมเคลื่อนขบวนกดดันตั้งแต่ปลายปี 2553 จนรัฐบาลอภิสิทธิ์ยอมยุบสภาก่อนวาระ และการขับเคลื่อนในวาระครบรอบโศกนาฏกรรม 10 เมษา ถึง 19 พฤษภา จากทุกเดือนจนถึงทุกปี ก็มีคนมารำลึกเป็นการชุมนุมขนาดใหญ่โดย ไม่มีการหนุนช่วยจากพรรคการเมือง คนไม่ได้น้อย เพราะเป็นการชุมนุมโดยคนในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล มาร่วมรำลึกไว้อาลัยเป็นหลัก เมื่อมีการเปิดโรงเรียนการเมือง นปช. ทั่วประเทศ ประชาชนก็มากันคับคั่ง แม้จะเป็นบทเรียนซ้ำ ๆ เดิม แต่เพราะเขาต้องการผ่าน.....โรงเรียน นปช.
การตรวจสอบการเลือกตั้งในปี 2554 เราใช้คนนับแสนคนตรวจสอบการเลือกตั้งทุกเขตเกือบทุกหน่วย ยังมีการลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ นปช. ซึ่งต่างจากพรรคเพื่อไทย ก็สามารถได้รายชื่อร่วมแสนภายใน 1 เดือน (รวมสำเนาบัตรประชาชนและกรอกข้อมูลเสนอร่างรัฐธรรมนูญ) ทั้งการถอดถอนศาลรัฐธรรมนูญ ประชาชนยังกระตือรือร้นร่วมทำงานการเมืองทุกรูปแบบ นี่เป็นด้านบวกและด้านเข้มแข็งของ นปช. ในเวลาที่ดิฉันเป็นประธานจากปี 2553 – 2556 สิ่งสำคัญที่สุดคือการจัดงานการเมือง งานปราศรัย และการเกิดองค์กรนำในแต่ละจังหวัดดำเนินไปคักคักมาก ส่วนกลางต้องขึ้นเวทีคืนละ 2-3 เวที เป็นต้น
นี่คือคำตอบที่ว่าหลังเหตุการณ์ เมษา – พฤษภา 2553 นปช. และมวลชนยังเข้มแข็ง อาจมากกว่าเดิมในแง่การนำ การสร้างผู้ประสานงาน สร้างเครือข่ายแกนนำ นปช. ทั่วประเทศและในต่างประเทศ รวมทั้งสื่อสารในเวทีโลก
แล้วด้านลบ ด้านอ่อนล่ะ มีแน่นอนท่ามกลางการชุมนุมเคลื่อนมวลชนขนาดใหญ่ มีการสนับสนุนจากส่วนต่างๆ ทั้งฟากการเมือง ฟากแนวร่วม และฟากมวลชน นั้น
1.มีความหลากหลายในหมู่แกนนำและวิธีคิด วิธีทำงาน ต่อให้มีหลักนโยบายและมีการนำค่อนข้างเป็นระบบ มีการแตกแถว มีเสรีชนที่ไม่ปฏิบัติตามแนวทางนโยบายในส่วนที่ร่วมด้วยช่วยนำกันเอง มีนักการเมือง พรรคการเมือง และผู้หวังดีที่มีความคิดแตกต่างไป ทำให้เกิดปัญหาในยามวิกฤต การต่อสู้ก็ทดสอบภาวะการนำ ทำให้สับสนในการขับเคลื่อนมวลชนและทิศทางการต่อสู้ ทั้งเฉพาะหน้าและระยะต่อ ๆ ไป เกิดมีภาวะไร้วินัยอยู่มาก
2.การขับเคลื่อนขบวนการต่อสู้ของประชาชนขนาดใหญ่ที่ร่วมทางกับพรรคการเมืองขนาดใหญ่เช่นกัน จึงไม่ง่ายเลย เพราะเป้าหมายทางการเมืองกับเป้าหมายการต่อสู้ของประชาชน บางทีไม่ตรงกัน หลายครั้งข้อดีที่หนุนช่วยกันและข้ออ่อนที่เห็นแตกต่างกันในบางระยะ จะมีผลสะเทือนใหญ่โตทั้งสิ้น เช่น ปัญหา ICC ปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปัญหานิรโทษสุดซอย
สามปัญหานี้ นปช. ยืนแตกต่างกับพรรคเพื่อไทยตั้งแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 100% ตามสัดส่วนประชาชน ปัญหานิรโทษกรรมสุดซอย ซึ่ง นปช. และคนเสื้อแดงส่วนใหญ่ (เกือบทั้งหมด) ไม่เห็นด้วยกับพรรคเพื่อไทย และปัญหาการเซ็นรับรองเขตอำนาจศาลโลก ICC เฉพาะกรณี 10 เมษา – 19 พฤษภา ที่รัฐมนตรีต่างประเทศของพรรคเพื่อไทยไม่ยอมเซ็นอนุมัติให้ ICC เข้ามาดำเนินการ เมื่อยอมรับด้านบวกได้ ก็ต้องยอมรับว่าจะมีด้านลบได้เช่นกัน
3.ด้านลบอีกด้านคือ ขนาดใหญ่ของมวลชนที่ขับเคลื่อน ทำให้ นปช. เป็นเป้าหมายสำคัญที่ฝ่ายจารีตนิยม อำนาจนิยม ต้องการทำลาย แกนนำก็ถูกควบคุม จับกุมคุมขัง คดีความมากมาย เพราะแต่ละครั้งแกนนำต้องมอบตัว ยุติการชุมนุม เพราะทนเห็นประชาชนถูกฆ่ามากมายไม่ได้ แล้วที่สุดแกนนำก็ประสบชะตากรรม มีคดีความ ต้องเข้าคุกกันเป็นลำดับ โดยฝ่ายผู้กระทำลอยนวล
นอกจากแกนนำสำคัญ ๆ ถูกจ้องจัดการโดยฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตย ในฝ่ายเดียวกันก็มีความพยายามแย่งชิงมวลชน แย่งชิงการนำ โดยสร้างวาทกรรม “สู้แล้วรวย” “สู้ไปกราบไป” ฯลฯ ในส่วนผู้เขียนก็ถูกปรามาสว่าเป็นผู้หญิง (แก่แล้ว) เป็นนักวิชาการ ไม่มีประสบการณ์ขึ้นเวทีชุมนุม และขับเคลื่อนโดยเรียกร้องวินัย และนโยบาย นปช. ก็ถูกข้อหาเผด็จการเพิ่มด้วย (โดยเฉพาะการแย่งขึ้นเวทีปราศรัยเมื่อเห็นมีมวลชนมาก ๆ)
4.ด้านลบอีกอย่างคือปัญหาพรรคการเมืองที่คนเสื้อแดงสนับสนุน ถ้ามีปัญหาการเป็นรัฐบาล การดำเนินงานไม่เป็นไปตามที่มวลชนคาดหวัง มวลชนจะไม่พอใจทั้งพรรคและลามมา นปช. เพราะมีแกนนำเข้าร่วมในรัฐบาล"