เพจเฟชบุ๊ก Anti-Fake News Center Thailand โพตส์แจงตามที่ได้มีข่าวปรากฏในสื่อออนไลน์ต่างๆ ในประเด็นเรื่อง เดินทางข้ามจังหวัด โดยไม่มีเหตุจำเป็น อาจโดนกักตัว 14 วัน ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย กรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี พบว่าประเด็นดังกล่าว เป็นข้อมูลจริง
จากกรณีข่าว ที่ระบุว่าการเดินทางข้ามเขตจังหวัด หากไม่มีเหตุผลความจำเป็นใดๆ อาจโดนกักตัว 14 วัน ตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินนั้น ทางกรมประชาสัมพันธ์ ได้ดำเนินการตรวจสอบจากปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. พบว่า
"หากประชาชนเดินทางข้ามจังหวัด แล้วไม่มีคำอธิบายหรือหลักฐานที่เป็นเหตุ เป็นผล อาจต้องถูกกักตัว 14 วันจริง แต่ขึ้นอยู่กับมาตรการในแต่ละพื้นที่ และต้องดูเป็นรายกรณีไป" ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่จังหวัดภูเก็ตเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายจังหวัด เช่น จ.พิษณุโลก จ.บุรีรัมย์ เป็นต้น
โดยสิ่งที่ทุกคนจะต้องเจอเมื่อเดินทางข้ามจังหวัด คือ จุดตรวจคัดกรอง ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งรายละเอียดในการปฏิบัติของแต่ละพื้นที่อาจมีความหนักเบาแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และความเสี่ยงในพื้นที่ แต่ทุกจังหวัดจะยึดกรอบข้อกำหนดของส่วนกลาง และคำสั่งของ ศบค. เป็นหลัก ที่มีสาระสำคัญของการปฏิบัติคือ การป้องกันยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และการดูแลการดำรงชีวิตการประกอบอาชีพของประชาชน แม้ว่าขณะนี้ข้อกำหนด จะให้งดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตจังหวัด แต่ก็ได้อนุโลมให้เดินทางได้ โดยต้องปฏิบัติตามข้อกำหนด ซึ่งได้แยกกลุ่มผู้เดินทางออกเป็น 4 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีหลักปฏิบัติ ดังนี้
กลุ่มที่ 1 กลุ่มคนทั่วไป ต้องอธิบาย และมีเหตุผล พร้อมหลักฐานประกอบการเดินทาง
กลุ่มที่ 2 คนที่ผ่านการกักตัวแล้ว (State / Local / Home Quarantine) จะได้รับใบรับรองการกักตัวที่ จังหวัดออกให้ และต้องนำใบรับรองนั้นมายืนยันว่า ผ่านการกักตัวเรียบร้อยแล้ว
กลุ่มที่ 3 มาจากพื้นที่เสี่ยง ต้องมีหลักฐานประกอบชัดเจน
กลุ่มที่ 4 กรณีมาจาก จ.ภูเก็ต ต้องมีใบรับรองการกักตัวที่ จ.ภูเก็ต ออกให้ ซึ่งคนกลุ่มนี้โดนคำสั่งของ จ.ภูเก็ต กักตัวไม่ให้ออกนอกเขตมาตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค. ที่ผ่านมา หรือเป็นเวลามากกว่า 30 วันแล้ว
ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติม จากทางภาครัฐ เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 สามารถติดตามได้ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เฟซบุ๊ก ศูนย์ข้อมูล COVID-19 หรือโทรสายด่วน 1111