xs
xsm
sm
md
lg

สปส.เพิ่มสิทธิผู้ประกันตนเสี่ยง/ป่วยโควิด-19 เทียบเท่าสิทธิ 3 กองทุน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ ส่งผลให้สถานพยาบาลมีความจำเป็นต้องใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการแบบพิเศษ ตลอดจนเครื่องมือแพทย์ต่างๆ ในการให้บริการแก่ผู้ประกันตนที่มีความเสี่ยงเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคโควิด-19 หรือผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 คณะกรรมการประกันสังคมจึงมีมติเห็นชอบประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่องหลักเกณฑ์และอัตราค่าบริการทางการแพทย์กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 โดยนายแพทย์ชาตรี บานชื่น ประธานคณะกรรมการการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม ซึ่งประกาศฯ ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2563

ในการนี้ ร่างประกาศฯ ดังกล่าวได้เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563 โดย สปส.จะจ่ายค่าบริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนหรือสถานพยาบาลในหลักเกณฑ์ ดังนี้

1. กรณีเข้ารับบริการทางการแพทย์ในสถานพยาบาลของรัฐประเภทผู้ป่วยนอก จ่ายค่าบริการทางการแพทย์ ดังนี้ค่าตรวจวินิจฉัยโรคโควิด-19 ทางห้องปฏิบัติการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดและค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) สำหรับบุคลากรห้องปฏิบัติการในอัตราไม่เกินครั้งละ 3,000 บาท และจ่ายค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) สำหรับบุคลากรเพื่อเก็บตัวอย่างส่งตรวจ ครั้งละไม่เกิน 540 บาท ประเภทผู้ป่วยใน จ่ายค่าบริการทางการแพทย์ ดังนี้

ค่าห้องพักสำหรับควบคุมดูแลรักษาตามมาตรฐานและค่าอาหารไม่เกินวันละ 2,500 บาท ค่าบริการทางการแพทย์คำนวณตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม (DRG) ในอัตรา 12,000 บาท ต่อหนึ่งน้ำหนักสัมพัทธ์ปรับตามวันนอน (AdjRW) ค่ายาต้านไวรัสไม่เกิน 7,200 บาท ต่อราย ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ ไม่เกินครั้งละ 2,500 บาท ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ตามอาการของผู้ป่วย กรณีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง จ่ายไม่เกิน 15 ชุดต่อวัน อัตรา 740 บาทต่อชุด กรณีอาการรุนแรงจ่ายไม่เกิน 30 ชุดต่อวัน อัตรา 740 บาทต่อชุด

2. กรณีเข้ารับบริการทางการแพทย์ในสถานพยาบาลเอกชน สปส.จ่ายค่าบริการทางการแพทย์กรณีการตรวจวินิจฉัยโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สำหรับผู้ประกันตนที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคติดเชื้อโควิด-19 ตามเกณฑ์กระทรวงสาธารณสุข และไม่ได้เป็นผู้รับสิทธิจากหน่วยงานภาครัฐอื่น รวมถึงค่าบริการทางการแพทย์สำหรับผู้ประกันตนที่ป่วยสำนักงานฯ จ่ายให้สถานพยาบาลเอกชนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

3. ค่าพาหนะ ในกรณีจำเป็นต้องส่งต่อภายในจังหวัดเดียวกัน จ่ายตามจริง ไม่เกิน 500 บาท กรณีต่างท้องที่จังหวัดอื่น จ่ายเบื้องต้น 500 บาท และจ่ายเพิ่มกิโลเมตรละ 6 บาท ทั้งยังจ่ายค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) และค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อยานพาหนะไม่เกิน 3,700 บาทต่อครั้ง

4. กรณีที่ สปส.เห็นว่าผู้ประกันตนสมควรได้รับค่าบริการทางการแพทย์นอกเหนือจากที่กำหนด สปส.จะต้องจ่ายภายใต้คำแนะนำของคณะกรรมการการแพทย์

อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ประกันตนมีอาการป่วย มีไข้ เจ็บคอ ไอหรือมีอาการอื่นๆ ร่วม ในเบื้องต้นขอแนะนำให้เข้ารับการรักษาโรงพยาบาลตามสิทธิที่เลือกไว้ เนื่องจากหากไม่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคโควิด-19 หรือไม่เป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะสามารถรักษาอาการของโรคที่เป็นได้เลย แต่หากผู้ประกันตนไม่สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตามสิทธิที่เลือกได้ ผู้ประกันตนสามารถเข้ารักษาในโรงพยาบาลที่สะดวกได้ทั้งรัฐและเอกชน และหากพบว่าเป็นโรคโควิด-19 ก็สามารถรักษาต่อ ณ โรงพยาบาลนั้นได้เลย โดยไม่ต้องแจ้งโรงพยาบาลตามสิทธิ และไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยสถานพยาบาลที่รักษาจะเบิกค่าใช้จ่ายจาก สปส.ได้ตามหลักเกณฑ์ข้างต้น
 
นายทศพล กล่าวอีกว่า การกำหนดหลักเกณฑ์การตรวจวินิจฉัยและการดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยโรคโควิด-19 นั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบหลักทั้ง 3 หน่วยงาน คือ กรมบัญชีกลาง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ สปส.ได้ตกลงร่วมกันในการให้การตรวจรักษาแก่ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือผู้ที่ป่วยด้วยโรคโควิด-19 ให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันทั้ง 3 หน่วยงาน

ทั้งนี้ สปส.ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นจากผลกระทบภาวะวิกฤตโควิด-19 ทุกด้าน เพื่อหาแนวทางกำหนดมาตรการแก้ไขให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต่อไป ตนขอให้ผู้ประกันตนมั่นใจว่าสำนักงานประกันสังคมจะดูแลผู้ประกันตนทุกคนและพร้อมพัฒนางานของประกันสังคมให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องบนพื้นฐานการพัฒนาแบบยั่งยืนให้เกิดความมั่นคงต่อชีวิตและสุขภาพของผู้ประกันตนต่อไป