xs
xsm
sm
md
lg

รำลึก "วันเลิกทาส" 1 เมษายนของทุกปี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันเลิกทาส 1 เมษายน พ.ศ. 2435 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศใช้ “พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. 124” และ “พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร รัตนโกสิทร์ศก 124” เนื่องจากในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น (ร.3) เมืองไทยมีทาสเป็นจำนวนกว่าหนึ่งในสามของพลเมืองของประเทศ เนื่องจากพ่อแม่เป็นทาสแล้ว ลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นทาสก็ต้องตกเป็นทาสต่อไป ทาสนั้นจะต้องหาเงินมาไถ่ตัวเอง มิฉะนั้นแล้วก็จะต้องเป็นทาสไปตลอดชีวิต เพราะตามกฎหมายถือว่ายังมีค่าตัวอยู่ (ทาสในเรือนเบี้ย)

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) ทรงประกาศ “พระราชบัญญัติพิกัดกระเษียรลูกทาสลูกไทย” เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2417 แก้พิกัดค่าตัวทาสใหม่ โดยให้ลดค่าตัวทาสลงตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จนกระทั่งหมดค่าตัวเมื่ออายุได้ 20 ปี เมื่ออายุได้ 21 ปี ผู้นั้นก็จะเป็นอิสระ มีผลกับทาสที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2411 เป็นต้นมา และห้ามมิให้มีการซื้อขายบุคคลที่มีอายุมากกว่า 20 ปี เป็นทาสอีก

ประเทศไทยมีการใช้ทาสมาเป็นเวลานานเพื่อใช้ทำกิจการต่างๆ ในบ้านเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ที่สูงศักดิ์ พระองค์ทรงใช้ความวิริยะอุตสาหะที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้หมดไป ด้วยทรงพระราชดำริกับเสนาบดีและข้าราชการเกี่ยวกับเรื่องทาส พระองค์ทรงคิดหาวิธีปลดปล่อยทาสให้ได้รับความเป็นไท ด้วยวิธีการละมุนละม่อม ทำตามลำดับขั้นตอน ข้าทาสและไพร่ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งหลุดพ้นจากระบบดั้งเดิม ได้กลายเป็นราษฎรสยามและต่างมีโอกาสประกอบอาชีพหลากหลาย

เมื่อถึง พ.ศ. 2448 ทรงออก “พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. 124” ให้ลูกทาสทุกคนเป็นไทยในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2448 ส่วนทาสประเภทอื่นที่มิใช่ทาสในเรือนเบี้ย ทรงให้ลดค่าตัวเดือนละ 4 บาท นับตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2448 เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติป้องกันมิให้คนที่เป็นไทยแล้วกลับไปเป็นทาสอีก และเมื่อทาสจะเปลี่ยนเจ้าเงินใหม่ ห้ามมิให้ขึ้นค่าตัว