นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต. โพสต์เฟซบุ๊ก “สมชัย ศรีสุทธิยากร”ระบุว่า ความเห็นกรณีเงินกู้พรรคอนาคตใหม่ (ตอนที่ 1) เงินกู้เป็นเงินบริจาคหรือไม่ สืบเนื่องจากคำร้องของ นายศรีสุวรรณ จรรยา และ นาย สุวัชร สังขฤกษ์ เมื่อวันที่ 21 และ 23 พฤษภาคม 2562 ว่ากรณีที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ให้ พรรคอนาคตใหม่ กู้เงิน น่าจะเป็นความผิด ตามมาตรา 66 (บริจาคเงิน เกิน 10 ล้านไม่ได้) ซึ่งมีโทษ ทั้งต่อผู้บริจาค และพรรคที่รับบริจาค ตามมาตรา 124 และ 125 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง
ผลการดำเนินการในชั้น กกต. คือ วันที่ 23 สิงหาคม 2562 คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวนคณะที่ 13 ยกคำร้อง (ไม่ผิด) ประมาณปลายเดือน กันยายน 2562 สำนักสืบสวนและวินิจฉัยที่ 1 ยกคำร้อง (ไม่ผิด) และวันที่ 17 ตุลาคม 2562 คณะอนุกรรมการวินิจฉัย และชี้ขาดข้อโต้แย้ง คณะที่ 6 มีมติเสียงข้างมาก 3:2 ให้ดำเนินคดี ความผิดตามมาตรา 66
กกต.มีมติวันที่ 11 ธันวาคม 2562 ให้ดำเนินคดี ตามมาตรา 66 โดยพ่วงความผิดในมาตรา 62 และ 72 (รับเงินหรือประโยชน์อื่น โดยรู้หรือสมควรรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย)
ในความเห็นของผม การจะบอกว่าเงินกู้เป็น เงินบริจาคหรือไม่ ต้องดูคำนิยามบริจาคในมาตรา 4 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 ที่ให้ความหมายว่า "การให้เงินหรือทรัพย์สินแก่พรรคการเมืองนอกเหนือจากค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมือง และให้หมายความรวมถึงการให้ประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมือง บรรดาที่สามารถคำนวณเป็นเงินได้ตามที่ณะกรรมการกำหนด
คำถามแบบปกติชน คือ เงินกู้เมื่อให้กู้แล้ว ถือเป็นการให้ โดยไม่ต้องใช้คืนใช่หรือไม่ ซึ่งคำตอบคือ "ไม่ใช่" เพราะผู้กู้ยังมีภาระหนี้สิน ต้องใช้คืนตามระยะเวลา พร้อมดอกเบี้ย ดังนั้นเงินกู้ จึงไม่ใช่เงินบริจาค
ความเห็นกรณีเงินกู้พรรคอนาคตใหม่ (ตอนที่ 2) เงินกู้ เป็น เงินรายได้ หรือไม่ ตรรกะเบื้องต้นที่ถกกันคือ ใน พ.ร.ป.พรรคการเมืองฉบับเก่า 2550 ในส่วนรายได้พรรคการเมือง มาตรา 53 (7) ได้มีรายการ "รายได้อื่น" (ซึ่งมีคนแปลว่า รวมเงินกู้) ในขณะที่ พ.ร.ป.ฉบับใหม่ 2560 มาตรา 62 ไม่ปรากฏรายการ "รายได้อื่น" ในหมวดที่ว่าด้วยรายได้ของพรรคการเมือง ดังนั้นเมื่อพรรคอนาคตใหม่ มีการกู้ยืมเงิน จึงถือเป็น "รายได้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย" เนื่องจาก กฎหมายไม่ได้เขียนให้มีรายการ เงินกู้ ในหมวดรายได้ของพรรคการเมือง การพิสูจน์ในเรื่องนี้ จึงต้องย้อนกลับไปดูงบการเงินของพรรคการเมืองต่างๆ ตาม พรป.เดิม ว่า รายการเงินกู้ ได้ถูกบันทึกไว้ในรายการเงินรายได้ หรือ รายการหนี้สิน พบว่า ในรายงานงบการเงินของทุกพรรคในอดีต (จากตัวอย่างเป็นของพรรคประชาราช ปี 2557) มีรายการเงินกู้ยืม อยู่ในหมวดหนี้สิน ส่วนในรายการรายได้อื่น เป็นรายได้จิปาถะเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น
เมื่อมาดูรายการงบการเงินของพรรคการเมืองต่างๆ ของปี 2561 พบว่า มี 16 พรรคการเมือง ที่บันทึกรายการเงินกู้ ใน หมวดหนี้สิน (จากตัวอย่าง เป็นของพรรคพลังท้องถิ่นไท พรรคไทรักธรรม พรรคพลังประชาธิปไตย และ พรรครวมพลังประชาชาติไทย) และยังมีอีก 16 พรรค ที่มีรายการเงินยืม บันทึกไว้ในหมวดหนี้สินเช่นกัน
แต่การดำเนินการของ กกต. ได้มีการตั้งกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน เมื่อ 27 พฤศจิกายน 2562 และ มีมติ 5: 2 เมื่อ 11 ธันวาคม 2562 ให้ดำเนินคดีต่อพรรคอนาคตใหม่ ในความผิดเพิ่ม ตามมาตรา 62 และ 72 (เงินกู้ เป็นรายได้อื่นที่รู้หรือสมควรรู้ว่า ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย) ซึ่งมีโทษ ถึงยุบพรรค
ความเห็นของผม คือ เมื่อเงินกู้ถูกบันทึกในรายการหนี้สินในงบการเงินของพรรคการเมืองโดยตลอด โดยมีหลักฐานในเว็บไซต์ ของ กกต. ตั้งแต่ปี 2557-2561 ไม่เคยมีการบันทึกในรายการรายได้ และงบดังกล่าวผ่านการตรวจสอบจากผู้ตรวจสอบบัญชีอนุญาต ผ่านที่ประชุมใหญ่พรรคการเมือง ส่งนายทะเบียนพรรคการเมืองตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 และมาประกาศให้ประชาชนทราบทั่วไป ในเดือนพฤศจิกายน 2562 แล้ว เงินกู้ จึงมิใช่รายได้ แต่เป็นหนี้สิน
ความเห็น กรณีเงินกู้อนาคตใหม่ (ตอนที่ 3) เงินกู้ เป็นประโยชน์อื่นใดหรือไม่ ใน 2 ตอนแรก ผมได้ให้ความเห็นและแสดงหลักฐานจากข้อความตามกฎหมาย ใน พรป.พรรคการเมือง 2560 และหลักฐานงบการเงินของพรรคการเมืองปี 2557-2561 ที่ กกต.เผยแพร่ต่อสาธารณะ ว่า เงินกู้ ไม่ใช่เงินบริจาค และเงินกู้ไม่ใช่เงินรายได้ไปแล้วนั้น ในตอนนี้จะได้นำเสนอแนวคิดและการพิสูจน์ว่า เงินกู้ ไม่ใช่ประโยชน์อื่นใด
ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 ระบุว่า "ประโยชน์อื่นใดหมายความรวมถึง การให้ใช้ทรัพย์สิน การให้บริการ หรือการให้ส่วนลด โดยไม่มีค่าตอบแทน หรือมีค่าตอบแทนที่ไม่เป็นไปตามปกติการค้า และการทำให้หนี้ที่พรรคการเมืองเป็นลูกหนี้ลดลงหรือระงับสิ้นไปด้วย
ดังนั้นคำถามพื้นฐาน คือ เงินกู้ให้กู้แล้ว ทำให้หนี้สินลดลง หรือเพิ่มขึ้น ซึ่งคนปกติสามัญย่อมตอบได้ทันทีว่า การกู้ ย่อมทำให้หนี้สินเพิ่มขึ้น ไม่ลดลงหรือระงับสิ้นไป แต่หากการให้กู้ดังกล่าว ไม่กำหนดเวลาใช้คืน หรือ คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าที่คิดกันในท้องตลาดมาก หรือ ไม่คิดดอกเบี้ยเลย เฉพาะส่วนที่เป็นดอกเบี้ยที่สมควรจะได้แต่หายไปต่างหาก คือประโยชน์อื่นใด ดังนั้น หากอยากจะเล่นงานพรรคการเมืองหนึ่งว่า ให้กู้แล้วเป็นรายการ "ประโยชน์อื่นใด" คงต้องตรวจสอบสัญญาเงินกู้ของทุกพรรคว่า คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าที่ควรจะเป็นหรือไม่ และต้องนับว่านอกเหนือจากพรรคที่ปรากฏรายการเงินกู้ในงบการเงินปี 2561 ถึง 16 พรรคแล้ว พรรคการเมืองอีก 16 พรรคที่ปรากฏรายการเงินยืมในงบการเงินปี 2561 ยิ่งสมควรจัดเป็นประโยชน์อื่นใดยิ่งกว่า เพราะเงินกู้ มี ดอกเบี้ย แต่เงินยืม ไม่มีดอกเบี้ย (เพราะดอกเบี้ยที่หายไป คือ ประโยชน์อื่นใดที่พรรคควรต้องจ่ายตามปกติการค้า)
ความเห็นของผมจึงเห็นว่า เงินกู้ไม่ใช่ ประโยชน์อื่นใด ยกเว้นหากไม่คิดดอกเบี้ยเงินกู้ หรือ ไม่มีสัญญาการใช้เงินคืนที่แน่นอน