พญ.ณัฐพร ใจสมุทร สกุลแพทย์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายพัฒนาเครือข่ายโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ สังกัดกรมสุขภาพจิตกระทรวงสาธารณสุข โพสต์เฟซบุ๊ก “N Jaisamut Sakunphest"ระบุว่า เด็กติดเกมความสนุกที่แสนเปราะบาง เพราะการติดเกมเปรียบเสมือนปลายยอดของภูเขาน้ำแข็ง ที่อยู่เหนือผิวน้ำแล้ว การติดเกมคือการใช้เวลาอยู่กับการเล่นเกม จนทำให้สูญเสียทั้งโอกาส และหน้าที่ที่ควรทำได้ตามวัย เช่นติดจนไปเรียนไม่ได้ ติดจนไม่มีสมาธิทำงานสร้างรายได้ ติดจนเสียความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด แต่ผู้ปกครองหรือคนรอบข้างต้องไม่ตัดสินว่าเขาติดเกมเพียง เพราะเราไม่ชอบให้เขาเล่นเกม
การดูแลบุตรหลาน ไม่ให้ติดเกม แบ่ง เป็น 3 ระยะ คือ 1.ระยะยังไม่เข้าสู่การเล่นคือกลุ่มที่เพิ่งมีอุปกรณ์ แต่ยังไม่เคยลองเล่น บุคคลสำคัญคือ พ่อและแม่ ต้องสื่อสารให้ลูกเข้าใจสถานะและกำหนดกติกาการใช้ร่วมกัน 2.ระยะเล่นแล้วแต่ยังไม่มีผลกระทบกลุ่มนี้พ่อแม่ต้องรีบให้แรงเสริมทางบวก คือการจับถูก ที่เขารักษากติกา เขาเล่นเกม แต่รักษากติกาไว้ได้ ทำให้ไม่กระทบต่อหน้าที่ก็ควรดูแลอยู่ห่างๆ และ 3.ระยะติดเกม นั่นคือมีผลกระทบแล้ว จำเป็นต้องนำเข้าสู่การประเมิน เพราะการติดเกมนั้นมีสาเหตุที่ซ่อนอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ภาวะซึมเศร้า ภาวะปัญหาการปรับตัวครอบครัวที่ไม่สามารถบอกความต้องการได้ หรือไม่ได้รับการตอบสนองทางจิตใจที่เหมาะสม
สิ่งที่ไม่ควรทำคือ ไม่ควรเข้าไปขัดขวางการเล่นด้วยความรุนแรงทันที"ถ้าท่านคิดว่า ท่านคุมสถานการณ์ไม่ได้ ควรพาเด็กเข้าสู่ระบบบริการที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เพราะมีระบบการดูแล และคัดกรองว่าเป็นการเล่นเกมแบบไหน แล้วเด็กจะได้รับการส่งต่อตามระบบบริการ และที่สำคัญที่สุดคือ พ่อแม่เองต้องเป็นตัวอย่างที่ดีไม่ให้บรรยากาศในบ้านเป็นสังคมก้มหน้า