xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.เตือนขึ้นค่าจ้างผิดเวลากระทบส่งออก-เอสเอ็มอี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สายแรงงาน กล่าวว่า การอนุมัติปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 5-6 บาทต่อวัน ของคณะกรรมการค่าจ้างกลางในวันนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเห็นว่า การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เมื่อพิจารณาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ถือว่าพอที่จะอยู่ในกรอบโดยแพงกว่ากรอบ 1.50-2 บาท ที่จริงแล้ว ตามกรอบการพิจารณาควรปรับเพิ่มค่าแรง 3-3.50 บาทต่อวันเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันแล้ว ซึ่งเศรษฐกิจไม่ดีเศรษฐกิจโลกซบเซาลง หลายโรงงานปิดตัวลง หลายโรงงานเลือกที่จะชะลอการจ้างงาน ขณะที่หลายโรงงานให้พนักงานพักงานชั่วคราวโดยจ่ายค่าจ้างให้ร้อยละ 75 ของเงินเดือน ถือเป็นสัญญาณบอกว่า เศรษฐกิจปัจจุบันมีปัญหา ผู้ประกอบการจึงเลือกที่จะทำอย่างนี้ เพราะคำสั่งซื้อไม่มี และเห็นว่าในอนาคตข้างหน้าอาจจะไม่มีคำสั่งซื้อเข้ามา ภาวะขณะนี้คืออยู่ในช่วงรอติดตามว่าสถานการณ์จะปรับตัวดีขึ้นหรือไม่ ดังนั้น การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำในวันนี้ นับเป็นการขึ้นในจังหวะที่ไม่ดี เพราะเป็นการซ้ำเติมปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าการขึ้นค่าจ้างจะอยู่ในกรอบที่วางหลักเกณฑ์ไว้ นอกจากนี้ การขึ้นค่าจ้างในครั้งนี้ยังทำให้ผู้ประกอบการที่แย่อยู่แล้วจะตัดสินใจว่าจะรอต่อไปหรือจะปิดบริษัท

นอกจากนี้ นายสุชาติ กล่าวถึงผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในต่างจังหวัดว่า ผลกระทบทางตรงที่เอสเอ็มอีถูกกระทบคือ การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 5-6 บาท ทำให้พวกเขาไม่สามารถประกอบธุรกิจอยู่ได้จริงๆ ส่งผลกระทบทางอ้อมก็คือผู้ประกอบการที่กำลังชั่งใจว่าจะทำธุรกิจต่อไปหรือเลิกทำธุรกิจ การปรับขึ้นค่าแรงครั้งนี้เป็นการตอกย้ำว่าไม่อยากทำธุรกิจต่อไปแล้ว อีกส่วนก็คือโรงงานขนาดกลางที่รับออเดอร์จากโรงงานขนาดใหญ่ และจะส่งต่องานให้กับโรงงานขนาดเล็ก หากไม่มีคำสั่งซื้อเข้ามาก็จะมีปัญหา อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท.ไม่สามารถทำอะไรได้แล้ว เนื่องจากเป็นมติของคณะกรรมการค่าจ้างกลางที่ออกมาแล้ว สิ่งที่พอจะทำได้ คือ จะทำอย่างไรที่จะทำให้ภาครัฐช่วยดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถดำเนินธุรกิจอยู่ได้โดยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน ทั้งการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน

นายสุชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกปัจจัยหนึ่งซึ่งตอกย้ำว่าการขึ้นค่าแรงไม่ถูกเวลา ไม่เหมาะสม ลดขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก ก็คือ เป็นการปรับขึ้นในช่วงที่เงินบาทแข็งค่า โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นนับจาก 1 ปีครึ่งที่ผ่านมาถึงร้อยละ 7-8 ซึ่งทำให้ทุกสิ่งที่มีต้นทุนจากเงินบาทจะแพงขึ้นตามเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เช่น ค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบันอยู่ที่วันละ 325 บาท หากเงินบาทแข็งค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 ต้นทุนค่าแรงที่ใช้คำนวณในการตั้งราคาขายสินค้าส่งออกก็จะต้องตั้งแพงขึ้นอีก ค่าแรงจะแพงขึ้นอีก 25 บาท จะทำให้เท่ากับต้องจ่ายค่าแรงในอัตรา 350 บาทต่อวัน ปัจจุบัน อุตสาหกรรมส่งออกมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 70 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) รวมทั้งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้วย