นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ และโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน โพสต์เฟซบุ๊ก “Rangsiman Rome - รังสิมันต์ โรม” เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2562 เกี่ยวกับการลงพื้นที่ศึกษาดูงานและตรวจเยี่ยมการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมาย และสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี มีเนื้อหาดังนี้
“เยือนค่ายอิงคยุทธบริหาร” ผมและคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ได้เดินทางมาเยือนค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี เพื่อแนะนำตัวในฐานะกรรมาธิการ และสอบถามถึงการใช้อำนาจหน้าที่ของกองทัพในเขตพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัจจุบันในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ยังคงมีการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคง 3 ฉบับ ได้แก่
1.พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457
2.พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และ
3.พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551
ซึ่งกฎหมายดังกล่าวได้ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่อย่างกว้างขวาง เพื่อปฏิบัติการในพื้นที่ในดำเนินการจับกุมและสอบสวนผู้ต้องสงสัย ซึ่งในบางกรณีได้ถูกสังคมตั้งคำถามถึงขอบเขตการใช้อำนาจเหล่านี้ว่ามีมากเกินไปหรือไม่ ยิ่งปรากฏในกระแสข่าวต่อการเสียชีวิตของคุณอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ที่หมดสติระหว่างควบคุมตัวในค่ายฯ และเสียชีวิตในเวลาต่อมาที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
ในโอกาสนี้คณะกรรมาธิการฯ ได้สอบถามถึงกระบวนการควบคุมตัว และได้ไปเยือนสถานที่เกิดเหตุกรณีของคุณอับดุลเลาะ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ยืนยันว่าไม่มีการซ้อมทรมาน
อย่างไรก็ตาม ได้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อสอบสวนหาสาเหตุต่อกรณีดังกล่าวต่อไป โดยในระหว่างนี้ศูนย์ซักถามเฉพาะกิจหน่วยทหารพรานที่ 43 ที่ใช้ซักถามคุณอับดุลเลาะจะหยุดให้บริการชั่วคราว
นอกจากนี้ ผมมีโอกาสถามถึงกระบวนการกลับสู่สภาวะปกติว่าจะเริ่มได้เมื่อใด สำหรับคำตอบที่ได้ ช่วงแรกน่าจะเริ่มได้ประมาณปี 2565 โดยจะนำไปสู่การให้อำนาจพลเรือนเข้ามาแก้ปัญหาพื้นที่มากขึ้น อย่างไรก็ดี เรื่องนี้เราคงต้องช่วยกันติดตามต่อไปว่าผลจะเป็นอย่างไร
กฎหมายความมั่นคงหลายฉบับจะมีการทยอยยกเลิกการใช้งานหรือไม่ ปัจจัยเหล่านี้คงต้องช่วยกันติดตามตรวจสอบ และให้กำลังใจ เพื่อให้พื้นที่กลับสู่ความสงบ และประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติต่อไป