xs
xsm
sm
md
lg

แถลงการณ์พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ฉบับที่ 1

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แถลงการณ์พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ฉบับที่ 1/2560 เรื่อง จุดยืนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เกี่ยวกับคดีการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551

จากกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ร่วมกันสลายการชุมนุม และไม่ดำเนินการระงับยับยั้ง เป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 83

ต่อมา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้พิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าว เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2560 โดยสรุปว่า ผู้ชุมนุมไม่ได้ชุมนุมโดยสงบที่จะได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และจำเลยทั้งสี่ไม่ได้มีเจตนาพิเศษเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปทำร้ายผู้ชุมนุมให้ได้รับอันตรายแก่กาย เสียชีวิต จำเลยทั้งสี่จึงไม่มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดนั้น อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ผู้เสียหาย และประจักษ์พยานผู้เกี่ยวข้อง จึงได้มาประชุมกันในวันนี้ และมีมติดังต่อไปนี้

1. อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ผู้เสียหาย และผู้เกี่ยวข้อง เคารพต่อคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ไม่เห็นด้วย ไม่เห็นพ้องด้วย และเห็นว่ามีความคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงหลายประการ จึงมีความเห็นว่า คดีนี้สมควรต้องอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกา ฯ ต่อไป เพราะเห็นว่าคำพิพากษาดังกล่าวขัดแย้งกับคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง มติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และมติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ได้มีคำวินิจฉัยจากกรณีดังกล่าวมาแล้วว่า การชุมนุมของประชาชนเป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มิได้ทำไปเพื่อประโยชน์ของตนเอง ในขณะที่การสลายการชุมนุมไม่ได้ปฏิบัติตามหลักมาตรฐานสากล เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการนำอาวุธและวัตถุระเบิดมาใช้ในการสลายการชุมนุมเป็นจำนวนมาก มิได้มีการปฏิบัติจากเบาไปหาหนัก มิได้ปฏิบัติตามแผนกรกฎ/48 แต่อย่างใด อีกทั้งการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงยังได้เกิดขึ้นตลอดเวลา ตั้งแต่เช้าจรดค่ำ แม้ว่าจะมีการประชุมรัฐสภาเสร็จสิ้นแล้ว หรือแม้แต่สมาชิกรัฐสภาได้เดินทางออกจากรัฐสภาแล้ว ซึ่งขัดแย้งกับข้อกล่าวอ้างว่า ต้องสลายการชุมนุมด้วยวิธีการดังกล่าว เพราะผู้ชุมนุมขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งทั้งสามองค์กรดังกล่าวได้ชี้ว่า จำเลยมีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จงใจกระทำต่อผู้ชุมนุมด้วยการละเมิดต่อผู้ชุมนุม

2. เห็นควรตั้งคณะทำงานขึ้นติดตามการดำเนินคดีนี้ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สภาทนายความ และทนายความ เพื่อให้การดำเนินการอุทธรณ์ได้นำเสนอข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอย่างครบถ้วน สมบูรณ์ เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมของผู้ได้รับบาดเจ็บและล้มตายจากการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 โดยมอบหมายให้ นายวีระ สมความคิด เป็นหัวหน้าคณะทำงาน นายประพันธ์ คูณมี นายสุริยะใส กตะศิลา เป็นคณะทำงานในกรณีนี้

3. หากการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น ตามข้อ 1 และ 2 มิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมแก่พี่น้องประชาชนผู้ได้รับผลกระทบในเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็จะดำเนินการในทุกช่องทางทางกฎหมาย ทุกวิถีทาง เพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้แก่พี่น้องประชาชนจนถึงที่สุด

4. มีมติมอบหมายให้ นายวีระ สมความคิด และคณะ ในฐานะผู้ยื่นคำร้องเดิมต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้เดินทางร่วมกับผู้เสียหาย และพี่น้องประชาชนที่มีความห่วงใยในคดีดังกล่าวนี้ ไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ในวันจันทร์ที่ 7 สิงหาคม 2560 เวลา 11.00 น.
กำลังโหลดความคิดเห็น