xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ดอีอีซีเห็นชอบแนวทางพัฒนาท่าเรือน้ำลึกหลัก 3 แห่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ครั้งที่ 2 วันนี้ (6 ก.ค.) มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม

นายคณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกหลัก 3 แห่ง คือ แหลมฉบัง สัตหีบ และมาบตาพุด โดยมีรถไฟทางคู่เชื่อมโยง และมีระบบบริการขนส่งสินค้าแบบไร้รอยต่อ ถือเป็นโครงการหลักของ EEC ที่จะช่วยยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจระดับโลก โดยท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 จะมีระบบการจัดการแบบอัตโนมัติที่ทันสมัย สามารถรองรับการขนส่งตู้สินค้าเพิ่มขึ้นเป็น 18 ล้านตู้ต่อปี และขนส่งรถยนต์ จาก 1 ล้านคัน เพิ่มเป็น 3 ล้านคัน เป็นท่าเรือใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก

ขณะที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 จะช่วยขยายการนำเข้าวัตถุดิบตั้งต้น สำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นสูง และ bio- economy รองรับ LNG เพิ่มขึ้นจาก 10 ล้านตันต่อปีเป็น 62 ล้านตันต่อปี อยู่ภายใต้การดูแลของนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และจะเปิดให้เอกชนลงทุนในปี 2561 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567 ส่วนท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ ภายใต้การดูแลของกองทัพเรือ จะพัฒนาท่าเรือเฟอร์รีเพื่อรองรับการเชื่อมอ่าวไทย (สัตหีบ - กรุงเทพ - หัวหิน) ซึ่งจะได้เร่งรัดการออกแบบ ก่อสร้างท่าเรือเฟอร์รีให้แล้วเสร็จ เพื่อดำเนินการให้ได้ภายในปี 2561 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563 ส่วนท่าเรือสำราญกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาเตรียมการ ส่วนการมีรถไฟทางคู่เข้าเชื่อมโยงทั้ง 3 ท่าเรือและมีระบบการขนส่งสินค้าแบบไร้รอยต่อ จะทำให้เพิ่มการขนส่งสินค้าทางรางที่มาถึงท่าเรือจากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 30 และทำให้ต้นทุนลอจิสติกส์ของประเทศลดลงจากร้อยละ 14 ของ GDP เป็นร้อยละ 12 ซึ่งประหยัดงบประมาณได้ 250, 000 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ จะมีการปรับปรุง และสร้างทางคู่รวมทั้งศูนย์กระจาย และรวบรวมสินค้า (หนองคายถึงท่าเรือแหลมฉบัง) เป็นเงินลงทุนรวม 68,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้สามารถลดระยะเวลาการขนส่งจาก 24 ชั่วโมง เหลือ 8 ชั่วโมง เราจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2561

ทางด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการ การร่วมลงทุนกับเอกชน โดยมีการจัดทำหลักเกณฑ์ เพื่อให้การลงทุนสำคัญใน EEC มาทำงานได้อย่างคล่องตัว มีมาตรฐานความโปร่งใส ในการเปิดเผยข้อมูล ตามพระราชบัญญัติร่วมทุนปี 2556 โดยการดำเนินการแต่ละขั้นตอน จะสามารถลดระยะเวลาการดำเนินการหรือ 8 - 10 เดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น