xs
xsm
sm
md
lg

ปภ.แนะหญิงท้องรู้ข้อปฏิบัติ ลดเสี่ยงอุบัติเหตุในการเดินทาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า สตรีมีครรภ์เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากการเดินทาง เนื่องจากสภาพร่างกายและสรีระที่เปลี่ยนแปลงในขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะหากประสบอุบัติเหตุจะทำให้ได้รับบาดเจ็บรุนแรง ส่งผลให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะแท้ง และเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงแนะข้อควรปฏิบัติในการเดินทางสำหรับสตรีมีครรภ์ ดังนี้

การโดยสารรถยนต์ ควรนั่งบริเวณเบาะด้านหน้า ข้างคนขับ โดยปรับเลื่อนพนักพิงไปด้านหลังให้มากที่สุดในลักษณะกึ่งเอนนอน พร้อมใช้หมอนหนุนหลังและรองคอเพื่อป้องกันอาการเมื่อยล้า คาดเข็มขัดนิรภัยอย่างถูกวิธีทุกครั้งที่เดินทาง โดยแนวทแยงคาดผ่านร่องอกไปตามแนวโค้งของท้อง ปรับสายเข็มขัดนิรภัยให้กระชับ ไม่บิดหรือเป็นเกลียว เพื่อป้องกันแรงกระชากทำให้เกิดอันตรายได้ แนวนอนอยู่บริเวณใต้ท้อง เหนือต้นขา และกระดูกเชิงกราน รวมถึงใช้หมอนใบเล็กรองบริเวณหน้าท้องส่วนล่าง แล้วจึงคาดเข็มขัดนิรภัย หลีกเลี่ยงการใช้บริการรถโดยสารที่มีคนหนาแน่น เพราะอาจถูกเบียดล้มและเป็นลม ก่อให้เกิดอันตรายได้ ระมัดระวังอุบัติเหตุขณะขึ้น-ลงบันได และระหว่างรถชะลอความเร็ว ควรรอให้รถจอดสนิท ค่อยเดินขึ้น-ลงรถ ไม่ยืนบริเวณบันไดหรือโหนรถเมล์ เพราะเสี่ยงต่อการพลัดตก และหกล้ม

ส่วนการโดยสารรถไฟฟ้า ให้ระมัดระวังอันตรายโดยเฉพาะบริเวณบันไดเลื่อน เพราะอาจสะดุดล้ม ทางเข้า-ออกประตูรถไฟฟ้าที่มีคนใช้บริการหนาแน่น เพราะอาจถูกกระแทกหรือหกล้มได้ หลีกเลี่ยงการใช้ทางเข้า-ออกอัตโนมัติ เพื่อป้องกันที่กั้นปิดลงมากระแทกท้อง เพื่อความปลอดภัยควรใช้ทางเข้า-ออกสำหรับสตรีมีครรภ์ ยืนรอรถไฟฟ้าบริเวณชานชาลาหลังเส้นเหลือง ห้ามยืนหรือล้ำเข้าไปในเส้นที่กำหนด ห้ามยื่นแขนหรือขาออกไปในรางรถไฟขณะที่มีรถไฟฟ้าวิ่งผ่าน รวมถึงไม่หยอกล้อเล่นบริเวณชานชาลารถไฟฟ้าอย่างเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุพลัดตกลงไปในราง ที่สำคัญสตรีมีครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ เพราะการทรงตัวไม่ดีทำให้เสี่ยงต่อการพลัดตกรถและได้รับอันตราย หากจำเป็นต้องโดยสารรถจักรยานยนต์ ควรใช้ความเร็วต่ำ และสวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง จะช่วยลดการบาดเจ็บรุนแรงและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ
กำลังโหลดความคิดเห็น