xs
xsm
sm
md
lg

บังคับใช้ถาวร จยย.ห้ามขึ้นสะพาน 39 จุด-5 อุโมงค์ ฝ่าฝืนปรับ 1 พันบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากกรณีที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ออกประกาศข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรชั่วคราว ห้ามรถจักรยานยนต์ ล้อลาก ใช้สะพานข้ามแยก 39 แห่ง และอุโมงค์ลอดทางแยก 5 แห่ง เป็นระยะเวลา 90 วัน และสิ้นสุดตั้งแต่สิ้นเดือน มิ.ย. 59 นั้น

วันที่ 24 ก.ค.59 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการห้ามรถบางชนิดและล้อเลื่อนลากเข็น เดินบนสะพานข้ามทางร่วมทางแยก สะพานยกระดับ สะพานข้ามแม่น้ำ และในอุโมงค์ลอดทางร่วมทางแยก พ.ศ. 2559 โดยมีสาระสำคัญ ห้ามรถมอเตอร์ไซค์ ล้อเลื่อน ลากเข็น ซิ่งบน 39 สะพานข้ามทางแยก- 5 อุโมงค์ มีผลตั้งแต่วันที่ 23 ก.ค. 59 เป็นต้นไป ยกเว้นรถเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่

ดังนี้ ข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานครว่าด้วยการห้ามรถบางชนิดและล้อเลื่อนลากเข็น เดินบนสะพานข้ามทางร่วมทางแยก สะพานยกระดับ สะพานข้ามแม่น้ำ และในอุโมงค์ลอดทางร่วมทางแยก พ.ศ. 2559 ด้วยสะพานข้ามทางร่วมทางแยก สะพานยกระดับ สะพานข้ามแม่น้ำ และอุโมงค์ลอดทางร่วมทางแยก สร้างขึ้นเพื่อใช้สำหรับแก้ปัญหาการจราจรบริเวณทางร่วมทางแยกและบนถนนมีการจราจรคับคั่ง โดยลักษณะทางกายภาพของสะพานข้ามและอุโมงค์ทางลอดต่าง ๆ ไม่ได้จัดช่องทางจราจรไว้สำหรับรถขนาดเล็กมีความเร็วต่ำ

เช่น รถจักรยานยนต์ รถจักรยาน รถยนต์สามล้อ และล้อเลื่อนลากเข็น หากรถประเภทดังกล่าวเดินบนสะพานข้ามทางร่วมทางแยก สะพานยกระดับ สะพานข้ามแม่น้ำ และในอุโมงค์ลอดทางร่วมทางแยก ทำให้เกิดความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ส่งผลกระทบต่อปัญหาจราจรและเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ ทำให้ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนได้รับความเดือดร้อน ประกอบกับได้ทดลองห้ามรถประเภทดังกล่าวมาเป็นระยะเวลาพอสมควร สามารถลดปัญหาการจราจรและประชาชนส่วนใหญ่พึงพอใจ ดังนั้น เพื่อเป็นการปลอดภัย และสะดวกในการจราจร จึงจำเป็นต้องออกประกาศข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพถนนและการจราจรในปัจจุบัน

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 139 (1) แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 เรื่อง การกำหนดลักษณะงานและการมอบหมายอำนาจหน้าที่รับผิดชอบให้รองผู้บัญชาการตำรวจ นครบาล โดยมอบอำนาจให้รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (งานจราจร) กำกับการบริหารราชการสั่งและปฏิบัติราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจนครบาล จึงออกข้อบังคับไว้ ดังนี้

1.ข้อบังคับนี้เรียกว่า ข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในเขตกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการห้ามรถบางชนิดและล้อเลื่อนลากเข็นเดินบนสะพานข้ามทางร่วมทางแยก สะพานยกระดับ สะพานข้ามแม่น้ำ และในอุโมงค์ลอดทางร่วมทางแยก พ.ศ. 2559 2.ข้อบังคับนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

3.ห้ามรถจักรยานยนต์ รถจักรยาน รถยนต์สามล้อ และล้อเลื่อนลากเข็นทุกชนิด เดินบนสะพานข้ามทางร่วมทางแยก สะพานยกระดับ และสะพานข้ามแม่น้ำ ดังต่อไปนี้ สะพานยกระดับข้ามแยกคลองตัน สะพานข้ามแยกอโศกเพชร สะพานข้ามแยกรามคำแหง สะพานข้ามแยกประชาสงเคราะห์ สะพานข้ามแยกสาม เหลี่ยมดินแดง สะพานข้ามแยกตึกชัย สะพานข้ามแยกราชเทวี สะพานข้ามแยกประตูน้ำ สะพาน ข้ามแยกยมราช สะพานข้ามแยกกำแพงเพชร สะพานข้ามแยกรัชดา-ลาดพร้าว สะพานข้ามแยกสุทธิสาร สะพานข้ามแยกรัชโยธิน สะพานข้ามแยกประชานุกูล สะพานข้ามแยกวงศ์สว่าง

สะพานข้ามแยกวงเวียนบางเขน สะพานยกระดับข้ามแยกบนถนนสุวินทวงศ์ สะพานข้ามแยกร่มเกล้า ถนนรามคำแหง สะพานข้ามแยกลาดบัวขาว ถนนรามคำแหง สะพานข้ามแยกมีนบุรี สะพานข้ามแยกสถานีบรรจุสินค้าไอซีดี ถนนเจ้าคุณทหาร สะพานข้ามแยกลำสาลี สะพานยกระดับข้ามแยกบนถนนรามคำแหง สะพานข้ามแยกศรีอุดม สะพานข้ามแยกประเวศ สะพานข้ามแยกบางกะปิ สะพานไทย-เบลเยี่ยม สะพานข้ามถนนนางลิ้นจี่ สะพานข้ามแยกรัชดาพระราม 4 สะพานภูมิพล 1 สะพานข้ามแยกคลองตัน สะพานข้ามแยกศิครินทร์ สะพานไทย-ญี่ปุ่น สะพานข้ามแยกบรมราชชนนี สะพานข้ามแยกบางพลัด สะพานข้ามแยกพระราม 2 สะพานข้ามแยกตากสิน สะพานข้ามแยกนิลกาจ สะพานข้ามแยกบางพฤกษ์

4.ห้ามรถจักรยานยนต์ รถจักรยาน รถยนต์สามล้อ และล้อเลื่อนลากเข็นทุกชนิด เดินในอุโมงค์ลอดทางร่วมทางแยก ดังต่อไปนี้อุโมงค์ทางลอดวงเวียนบางเขน อุโมงค์ทางลอดแยกศรีอุดม อุโมงค์ทางลอดแยกบรมราชชนนี อุโมงค์ทางลอดแยกบางพลัด อุโมงค์ทางลอดแยกท่าพระ

5.ข้อบังคับนี้มิให้ใช้บังคับแก่รถเจ้าพนักงานตำรวจขณะปฏิบัติหน้าที่

6.นับตั้งแต่วัน เวลา ที่ข้อบังคับนี้ใช้บังคับ ให้ยกเลิกข้อบังคับ กฎ ระเบียบ คำสั่งใดที่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้ ทั้งนี้หากผู้ใดฝ่าฝืนจะถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานจราจรและเครื่องหมายบนจราจร มีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น