xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์”เล็งงัดม.44 ฟันเจ้าหนี้นอกระบบคิดดอกเบี้ยโหด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เตรียมประกาศใช้มาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว โดยอาศัยอำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยจะเป็นการคุมเจ้าหนี้ หรือผู้ปล่อยกู้นอกระบบให้สามารถปล่อยกู้ได้ แต่ต้องคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สถาบันการเงินต้องเรียกเก็บดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 15% ต่อปี โดยหากเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราดังกล่าว จะทำให้มีความผิดทั้งทางแพ่งและอาญา

ทั้งนี้ หากเจ้าหนี้ที่ปล่อยกู้นอกระบบมีความต้องการที่จะปล่อยกู้ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า 15% จะให้เจ้าหนี้นอกระบบเข้ามาลงทะเบียน เพื่อให้อยู่ในระบบ ผ่านการจดทะเบียนเป็นสินเชื่อพิโคไฟแนนซ์ (Pico Finance) ซึ่งอาจมีเงินทุนจดทะเบียนเพียงเล็กน้อย แต่จะสามารถปล่อยสินเชื่อและคิดอัตราดอกเบี้ยสูงสุด 36% ต่อปี เทียบเท่ากับอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อรายย่อย (นาโนไฟแนนซ์) โดยคาดว่าจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาหลังจากเดือน มิ.ย.นี้

“จะใช้มาตรา 44 เล่นงานเจ้าหนี้นอกระบบที่ปล่อยกู้ คิดดอกเบี้ยสูงกว่า 15% ต่อปี และจะอนุโลมเจ้าหนี้นอกระบบให้สามารถปล่อยกู้ได้ แต่ต้องไม่เกิน 15% ซึ่งหากจะปล่อยสินเชื่อเกินตามอัตรานี้ จะต้องเข้ามาจดทะเบียนเป็นพิโคไฟแนนซ์ โดยจะสามารถปล่อยกู้เพื่อช่วยคนจนที่ต้องการเงินใช้ยามฉุกเฉิน เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียน" นายสมชัยกล่าว

นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน ตั้งหน่วยพิเศษเพื่อเป็นที่ปรึกษาให้กับลูกหนี้ตลอด 24 ชม. พร้อมยังกำหนดเป็นตัวชี้วัดการประเมิน (เคพีไอ) ของทั้ง 2 ธนาคารอีกด้วย

ขณะเดียวกัน จะมีการตั้งคณะกรรมการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบในทุกจังหวัด และจะมีคณะกรรมการฟื้นฟูส่งเสริมการเพิ่มรายได้ โดยจะฝึกอาชีพใหม่ๆ เรียนรู้วิธีการหารายได้ เพื่อให้มีเงินมาชำระเงินกู้จากพิโคไฟแนนซ์

ก่อนหน้านี้ แหล่งข่าวจากบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) แสดงความเห็นว่า การเปิดบริการสินเชื่อพิโคไฟแนนซ์ อาจเกิดขึ้นได้ยาก เพราะมีข้อจำกัดเรื่องแง่ของดอกเบี้ยที่ถูกกดมาอยู่ที่ 36% จากเดิมที่ผู้เล่นในตลาดนี้คิดดอกเบี้ยสูงกว่านี้ หากนับรวมภาระหนี้เสียที่จะเกิดขึ้นตามมาเพียงไม่กี่ราย ก็ต้องแบกภาระขาดทุนแล้ว

"เข้าใจว่าภาครัฐมีความตั้งใจอยากเอาหนี้นอกระบบมาอยู่ในระบบ เพราะผู้เล่นนาโนไฟแนนซ์ และลีสซิ่งยังกระจุกตัวในหัวเมืองไม่กระจายตัว ในขณะที่หนี้นอกระบบกระจายทุกพื้นที่ควรจะเอาขึ้นมาเป็นพิโคไฟแนนซ์ ต่อเนื่องจากนาโนไฟแนนซ์ แต่มองว่าพิโคไฟแนนซ์ยังเป็นไปได้ยากสำหรับไทย เสี่ยงหนี้เสียเยอะทวงหนี้ยาก
กำลังโหลดความคิดเห็น