xs
xsm
sm
md
lg

ม.44 ให้อำนาจ “บิ๊กแป๊ะ” ตั้ง สว.-รอง ผบก. ไฟเขียวกำหนดเกณฑ์เอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 26 เมษายน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 21/2559 เรื่องการปฏิบัติราชการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยระบุว่า จากสถานการณ์การกระทำความผิดและอาชญากรรมในปัจจุบัน ส่งผลต่อปริมาณงานและภารกิจของสํานักงานตํารวจแห่งชาติ ทําให้ต้องกําหนดหรือปรับระดับตําแหน่งให้สอดคล้องกับปริมาณและคุณภาพของงานในสถานีตํารวจ นอกจากนี้ยังมีจํานวนข้าราชการตํารวจที่มีความอาวุโส ผลการปฏิบัติงาน และความรู้ความสามารถอยู่ในส่วนราชการต่างๆ ในสัดส่วนที่แตกต่างกัน

ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชน ด้านอํานวยความยุติธรรม ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ให้เป็นที่ไว้วางใจและเชื่อถือศรัทธาของประชาชน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินและกระบวนการยุติธรรม อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2547 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคําสั่งดังต่อไปนี้

ให้ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ เป็นผู้สั่งแต่งตั้งข้าราชการตํารวจตามมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติตํารวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 44/2558 เรื่องการแก้ไขปัญหาการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตํารวจลงวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ตั้งแต่วันที่คําสั่งนี้มีผลใช้บังคับ จนกว่าการแต่งตั้งข้าราชการตํารวจในวาระการแต่งตั้งประจําปี พ.ศ. 2559 จะแล้วเสร็จ โดยการแต่งตั้งดังกล่าวให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้ง ที่ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติกําหนดเป็นการเฉพาะไปพลางก่อน โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานพิจารณาเหตุผลความจำเป็นในการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับสารวัตร (สว.) - รองผู้บังคับการ (รอง ผบก.) วาระประจำปี 2558 พร้อมด้วย พล.ต.ท.รุ่งโรจน์ แสงคล้าม ผู้ช่วย ผบ.ตร. พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผบช.สง.ก.ตร. และ พล.ต.ต.สรไกร พูนเพิ่ม ผบก.ภ.จว.สมุทรสาคร ร่วมกันแถลงชี้แจงคำสั่งหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ให้ ผบ.ตร.เป็นผู้สั่งแต่งตั้งตำรวจระดับ สว.-รอง ผบก.วาระประจำปี 2558

พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวว่า หลังจาก ก.ตร.ได้อนุมัติให้ ผบ.ตร.ดำเนินการตามมาตรา 56 เพื่อพิจารณาในการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้เสร็จสิ้นเดือน เม.ย. ทาง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้ประชุมคณะดำเนินงานกับสำนักงานกำลังพล (สกพ.) และผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่ปรากฏว่าการดำเนินการยังมีอุปสรรคเกิดขึ้นอยู่ และหลายประเด็นยังติดขัดในเรื่องการขอข้อยกเว้น ขอรายชื่อข้าราชการตำรวจ และขั้นตอนการดำเนินการต่างๆ จะต้องนำมาสู่การพิจารณาของ ก.ตร.อีกหลายวาระ หากนับเวลาแล้วอาจต้องมีการขยายเวลาออกไปอีกไม่น้อยกว่า 30 วัน ซึ่งขัดกับนโยบายที่นายกฯ ได้ให้ไว้

“นายกฯ เห็นว่าความล่าช้าเกินครึ่งปีมาแล้ว ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีก มีข้าราชการตำรวจบางตำแหน่งที่มีความสำคัญ เช่น ผู้กำกับการ มีตำแหน่งว่าง ต้องส่งคนไปรักษาการแทน คนที่ทำงานอยู่ในปัจจุบันก็ไม่รู้อนาคตของตัวเองว่าจะถูกโยกย้ายเมื่อไหร่ ซึ่งจะมีผลกระทบโดยตรงต่อการทำงาน และสิ่งที่ประชาชนควรจะได้รับการบริการจากข้าราชการตำรวจ จึงมีการทำกรอบเวลาการแต่งตั้งให้สั้นลง เพื่อให้การแต่งตั้งสามารถเสร็จตามกรอบเวลาที่กำหนดได้ แต่ก็ยังพบผลกระทบตามมาอีกมาก” พล.ต.อ.พงศพัศกล่าว

ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้นำปัญหาดังกล่าวไปหารือกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และ พล.อ.ประยุทธ์ ให้รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งนายกฯ มีความห่วงใยในเรื่องการแต่งตั้งตำรวจเป็นอย่างมาก จึงเห็นชอบแนวทางที่ ผบ.ตร.นำเสนอในการใช้มาตรา 44 ที่จะทำให้การแต่งตั้งสามารถเสร็จสิ้นได้ตามกรอบเวลาเดิมที่ ก.ตร.กำหนด

พล.ต.อ.พงศพัศกล่าวว่า นายกฯ เห็นว่าการแต่งตั้งโยกย้ายนอกจากสร้างขวัญและกำลังใจให้กับข้าราชการตำรวจที่ได้รับการแต่งตั้ง ยังจะส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานมีมากขึ้น การให้บริการประชาชน การดูแลความสงบเรียบร้อยของสังคม หรืองานด้านจราจรต่างๆ ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นใจในระบบการบริหารงานบุคลากรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

“นี่เป็นความตั้งใจของนายกฯ ที่จะปฏิรูปองค์กรตำรวจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงาน ถ้าหากข้าราชการตำรวจได้รับความเป็นธรรมจากการแต่งตั้งที่มีประสิทธิภาพ เป็นไปตามกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็สามารถที่จะปูนบำเหน็จให้ข้าราชการตำรวจที่มีโอกาสเลื่อนตำแหน่งให้มีความเจริญก้าวหน้า ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปตามแนวทางของรัฐบาล ที่อยากให้ตำรวจเป็นส่วนหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการดูแลปัญหาบ้านเมืองที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นการใช้มาตรา 44 ก็เป็นความตั้งใจของนายกรัฐมนตรีด้วยเช่นกัน” พล.ต.อ.พงศพัศกล่าว

สำหรับการแต่งตั้งครั้งนี้ ผบ.ตร.มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้งขึ้นมาใหม่เป็นการเฉพาะ ซึ่งได้รับนโยบายมาจากนายกรัฐมนตรีว่าการแต่งตั้งครั้งนี้ จะต้องเกิดความเป็นธรรม สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ข้าราชการตำรวจพึงได้รับจะต้องไม่หายไป กระบวนการแต่งตั้งที่นำไปสู่การสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

“คำสั่งที่นายกฯ ได้ลงนาม จะทำให้การดำเนินการสั้นลง และมีความเป็นไปได้ว่าการแต่งตั้งจะเสร็จภายในสิ้นเดือน เม.ย.นี้อย่างแน่นอน” รอง ผบ.ตร.กล่าว

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25 เมษายน คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) มีมติเห็นชอบการให้ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งนายตำรวจระดับรองสารวัตรจนถึงระดับรองผู้บังคับการ (รอง ผบก.) วาระการแต่งตั้งประจำปี 2558 ทั่วประเทศ ตามมาตรา 56 ของ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ขณะที่การออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 21/2559 ครั้งนี้ เป็นการให้อำนาจเต็มแก่ ผบ.ตร.ในการพิจารณาแต่ตั้งโยกย้ายวาระประจำปี 2559
กำลังโหลดความคิดเห็น