xs
xsm
sm
md
lg

หมกเม็ด! แฉสมุทรปราการปั้นตัวเลขอุบัติเหตุสงกรานต์ลดอื้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เมื่อวันที่ 15 เมษายน พล.ท.ธีรวัฒน์ บุญยะวัฒน์ หัวหน้าฝ่ายกิจการพลเรือน ส่วนงานการรักษาความสงบเรียบร้อย สำนักเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2559 ว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 14 เม.ย. ซึ่งเป็นวันที่สี่ของการรณรงค์ “สงกรานต์ปลอดภัย ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย สร้างวินัยจราจร” เกิดอุบัติเหตุ 555 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 78 ราย ผู้บาดเจ็บ 601 คน

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 39.82 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 32.07 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 78.83 รองลงมารถปิกอัพ ร้อยละ 10.84 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 64.32, บนถนนใน อบต. หมู่บ้าน ร้อยละ 38.74, ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 36.58 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ช่วงเวลา 16.01-20.00 น. ร้อยละ 33.69 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 54.59

ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,128 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 66,810 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 673,762 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 112,617 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 33,381 ราย ไม่มีใบขับขี่ 30,701 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 26 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 9 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 26 คน

สรุปอุบัติเหตุทางถนนรวม 4 วัน (11-14 เม.ย.) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,216 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 259 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 2,378 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต มี 11 จังหวัด ได้แก่ ตราด ปัตตานี พัทลุง แพร่ ยะลา ระนอง ลำพูน สมุทรสาคร สิงห์บุรี หนองบัวลำภู และอ่างทอง จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 100 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ 14 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 104 คน

พล.ท.ธีรวัฒน์กล่าวว่า ประชาชนบางส่วนเริ่มทยอยเดินทางกลับ ขณะที่บางส่วนยังคงอยู่ท่องเที่ยว และเล่นน้ำสงกรานต์ในพื้นที่ ศปถ.ได้เน้นย้ำให้จังหวัดปรับแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์การเดินทาง และวิถีการเล่นน้ำของประชาชนในพื้นที่ โดยบูรณาการหน่วยทหาร ตำรวจ และอาสาสมัคร จัดตั้งจุดตรวจบนถนนสายหลัก และสายรอง เพื่ออำนวยการจราจรและดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยว ควบคู่กับการสนธิกำลังดูแลความปลอดภัยในพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ โดยเฉพาะการควบคุมมิให้มีการเล่นน้ำในพื้นที่เสี่ยงอันตรายบนเส้นทางสายต่างๆ และมีการเล่นน้ำสงกรานต์ในลักษณะที่ก่อให้เกิดอันตราย

รวมถึงเพิ่มความเข้มข้นในการดูแลเส้นทางโดยรอบพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ โดยกวดขันกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เล่นน้ำที่ไม่สวมหมวกนิรภัย และรถกระบะที่บรรทุกคนเล่นน้ำเป็นพิเศษ รวมถึงเน้นย้ำให้ดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 46/2558 ลงวันที่ 30 ธ.ค.2558 “เมา จับ ยึด” อย่างจริงจัง และต่อเนื่อง เพื่อป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจนำไปสู่ความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน

อย่างไรก็ตามเมื่อมีมาตรการดูแลถนนทั้งสายหลักและสายรอง แต่กลับเกิดอุบัติเหตุมากกว่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมานั้น เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ที่ใช้รถใช้ถนน เมื่อพบการตั้งด่านตามนโยบายบนถนนสายหลัก มักจะหลบหลีกไปยังถนนสายรอง ทำให้เกิดไปอุบัติเหตุในถนนสายดังกล่าวมาก ส่วนใหญ่นอกจากเกิดอุบัติเหตุแล้วยังพบว่ามีการขับรถเร็วเกินกว่ากำหนดอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ห้วงเวลาในการดูแลความปลอดภัยบนท้องถนนช่วงสงกรานต์ยังมีอีกหลายวัน จะไม่เน้นปริมาณหรือจำนวนผู้ขับขี่จะเกิดอุบัติเหตุมากหรือน้อย แต่จะเน้นบังคับใช้กฎหมายในการป้องปราม ดูแลความปลอดภัยของประชาชน สำหรับมาตรการเมาจับยึด เป็นนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างเข้มข้น ที่จะเน้นเฉพาะในช่วงเทศกาล ส่วนภาวะปกติหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีกฎหมายมาบังคับใช้ตามปกติอยู่แล้ว เช่น พ.ร.บ.จราจรทางบก เพื่อดูแลความปลอดภัย

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดี ปภ. กล่าวว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนน พบว่า กว่าร้อยละ 55.21 เสียชีวิตในจุดเกิดเหตุ โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากการเมาแล้วขับ และขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ทำให้อุบัติเหตุรุนแรงมากขึ้น ศปถ.จึงได้กำชับให้จังหวัดประสานด่านตรวจกวดขันการขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ และการไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุรุนแรง และลดอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ รวมถึงประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจจัดชุดสายตรวจเคลื่อนที่ดูแลความปลอดภัยในการเล่นน้ำของประชาชนและควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ ช่วงเวลา และกลุ่มเยาวชนให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด รวมถึงขอให้จังหวัดประชาสัมพันธ์ผ่านทุกช่องทางสื่อในพื้นที่ ตรวจสอบรถให้พร้อมใช้งาน วางแผนการเดินทางล่วงหน้าและเลือกใช้เส้นทางที่ปลอดภัย เพื่อให้ทุกการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์ถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ว่า เห็นตัวเลขในการสูญเสีย บาดเจ็บ เสียชีวิตมีจำนวนพอสมควร ซึ่งได้เตือนไปตลอดเวลา ต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ท้องถิ่น อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน อาสาสมัคร ตำรวจ ทหาร ทั้งหมดที่ช่วยกันดูแลความปลอดภัย เสียสละเวลาที่ต้องอยู่กับครอบครัวนะ มารับมาส่งคอยดูแลพี่น้องประชาชนที่เดินทางไปเยี่ยมบ้านกลับภูมิลำเนา ซึ่งทำงานหนักไม่ได้พักผ่อน ไม่ได้ไปเยี่ยมครอบครัวเหมือนกับคนอื่น เพราะติดภาระหน้าที่ ความจำเป็น และความเสียสละ อันนี้ต้องให้กำลังใจเขาด้วย

"การทำให้ปลอดภัยนี่ คงไม่ใช่เฉพาะกฎหมายอย่างเดียวที่ทำให้อุบัติเหตุลดลง ต้องให้กลไกทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นประชารัฐ ความร่วมมือ การปลูกจิตสำนึกเหล่านี้ ต้องเริ่มต้นให้ได้นะ ถ้าเริ่มต้นไม่ได้ เราก็ไม่สามารถจะควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้ด้วยกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว บุคคลที่ได้รับอุบัติเหตุ ส่วนใหญ่ก็จะเมาสุราใช่ไหม แล้วก็ส่วนใหญ่จะเป็นรถโดยสารขนาดใหญ่บ้าง แล้วก็เป็นมอเตอร์ไซค์ซะเยอะนะ 4 ล้อยังแย่เลย 2 ล้อแล้วเมาเข้าไปอีก เป็นอันตรายอย่างยิ่งแล้วก็ตัวเลขสูง เพราะงั้นอยู่ที่ตัวคนแล้วละ คนขับนี่นะ แล้วก็มาตรการทางสังคม ทางครอบครัวต้องช่วยกันดูแล วันนี้เราตั้งด่านหมดเลยนะ ด่านทหาร ด่านตำรวจ ด่านชุมชน มีการโซนนิ่งพื้นที่ต่างๆ ให้ชัดเจนขึ้น มีความรับผิดชอบให้มากขึ้น ในการเดินทาง รวมความไปถึงเรื่องการจัดระเบียบในการเล่นน้ำสงกรานต์อย่างปลอดภัย" พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ

พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก เปิดเผยถึงการอำนวยความสะดวกสร้างความปลอดภัยให้ประชาชนที่ใช้เส้นทางสัญจร ตามมาตรการ "ดื่มไม่ขับ จับยึดรถ" ของ คสช.นั้น กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ใช้เส้นทางยังมีจำนวนมาก แต่ไม่หนาแน่นเหมือน 1-2 วันที่ผ่านมา

ทั้งนี้ สถิติการตรวจพบผู้กระทำผิดในลักษณะที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุโดยประมาทด้วยการดื่มแล้วขับขี่ในวันที่ 14 เม.ย. ดังนี้ รถจักรยานยนต์ พบการกระทำความผิด 25,289 ครั้ง เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องยึดรถจักรยานยนต์ไว้ 1,179 คัน และส่งผู้กระทำผิดดำเนินคดี 12,823 คน สำหรับรถโดยสารสาธารณะและรถยนต์ส่วนบุคคล พบการกระทำความผิด 41,797 ครั้ง เจ้าหน้าที่ได้ยึดใบขับขี่ไว้ 571 ใบ ยึดรถยนต์ 313 คัน ส่งผู้กระทำความผิดดำเนินคดี 9,323 คน

โดยตลอด 6 วันที่ผ่านมา (9-14 เมษายน 2559) เจ้าหน้าที่ได้ยึดรถที่ฝ่าฝืนมาตรการดื่มไม่ขับไว้แล้ว 3,057 คัน (แยกเป็น รถจักรยานยนต์ 2,361 คัน และ รถยนต์ 696 คัน ) ยึดใบอนุญาตขับขี่ 14,880 ใบ และดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ในส่วนรถจักรยานยนต์ 32,400 คน รถโดยสารสาธารณะ/รถยนต์ส่วนบุคล 19,916 คน

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข วิเคราะห์สาเหตุการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากจราจรช่วงเทศกาลสงกรานต์ 11-15 เม.ย. จากโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ มีผู้บาดเจ็บจากจราจรเข้ารับรักษา 18,360 คน จากการซักประวัติพบมีพฤติกรรมเสี่ยง คือ ดื่มสุรา 5,800 คน หรือร้อยละ 32 ไม่สวมหมวกนิรภัย 2,322 คน และไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 456 คน ทำให้บาดเจ็บรุนแรงต้องส่งต่อโรงพยาบาลที่ศักยภาพสูงกว่า 1,654 คน และมีผู้เสียชีวิต 273 ราย

"ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่ประชาชนบางส่วนเริ่มทยอยกลับจากการฉลองเทศกาลสงกรานต์ ได้กำชับให้โรงพยาบาลตลอดเส้นทางหลวงและปริมณฑล เตรียมความพร้อมดูแลประชาชนที่เดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ เต็มที่ ทั้งด้านกำลังคน อุปกรณ์ ทีมกู้ชีพฉุกเฉิน แนะนำผู้ขับขี่ใช้กุญแจเตือนใจ 5 ดอกในการเดินทาง คือ “ดื่มไม่ขับ ง่วงไม่ขับ ไม่ขับเร็ว คาดเข็มขัดนิรภัย และสวมหมวกกันน็อกทุกครั้งที่ขับขี่” และกุญแจสำรองอีก 1 ดอกไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน คือ สายด่วน 1669" รมว.สาธารณสุขระบุ

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผลการออกปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จากรายงานของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ตั้งแต่ 11-14 เม.ย. หน่วยแพทย์กู้ชีพฉุกเฉินออกบริการ 5,445 ครั้ง เฉลี่ยชั่วโมงละ 56 ครั้ง ประชาชนขอความช่วยเหลือผ่านทางสายด่วน 1669 จำนวน 3,712 ครั้ง หรือร้อยละ 68 ที่เหลือผ่านทางหมายเลขอื่นๆ และวิทยุสื่อสาร โดยเป็นผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉินสีแดงจำนวน 514 คน

ส่วนผลการรณรงค์ตรวจเตือน และดำเนินคดีกับผู้ทำผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ตั้งแต่ 10-14 เม.ย. รวมตรวจทั้งสิ้น 661 ราย พบการกระทำผิดกฎหมายและมีการดำเนินคดี 217 ราย มากที่สุดคือโฆษณาสื่อสารการตลาด 60 ราย ขายในเวลาต้องห้าม 55 ราย บริโภคในสถานที่ต้องห้าม เช่น สวนสาธารณะ, บนทางเท้า จำนวน 59 ราย ขายในลักษณะหรือวิธีการต้องห้าม เช่น ลดราคา แลก แจก แถม เป็นต้น จำนวน 29 ราย ขายในสถานที่ต้องห้าม เช่น เรือโดยสารสาธารณะ, สวนสาธารณะ, ร้านขายยา จำนวน 8 ราย ขายให้กับบุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ 4 ราย

นอกจากนี้ ยังพบความผิดตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ.2493 ของสรรพสามิต ฐานขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยไม่มี/ไม่แสดงใบอนุญาตขาย 11 ราย ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค ร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดและตำรวจ ประชาสัมพันธ์ ตรวจเตือน ดำเนินการตามกฎหมายอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากยังพบการจำหน่ายและดื่มสุราในพื้นที่ห้ามขาย ห้ามดื่ม โดยเพิ่มการดำเนินการในพื้นที่ที่มีการเล่นน้ำสงกรานต์ช้ากว่าจังหวัดอื่น เช่น งานวันไหลในจังหวัดโซนภาคตะวันออก งานสงกรานต์ที่พระประแดง เป็นต้น

รายงานข่าวจากจังหวัดสมุทรปราการเปิดเผยว่า ป้องกันภัยจังหวัดสมุทรปราการ มีการรายงานการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ในลักษณะหมกเม็ดไม่ตรงกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น โดยแจ้งว่าตั้งแต่วันที่ 11-14 เม.ย. มีอุบัติเหตุ 3 ราย เป็นหญิงเสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 3 ราย ซึ่งขัดแย้งกับรายงานของหน่วยกู้ชีพในจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 13 เม.ย. ชายไม่ทราบชื่ออายุ 20-30 ปี ขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่สวมหมวกนิรภัย เสียชีวิตตรงทางลงสะพานภูมิพล 1 ก่อนถึงทางออกสุขสวัสดิ์ วันที่ 14 เม.ย. น.ส.นิโรบล โททัสสะ อายุ 23 ปี นั่งรถกะบะ ชนกับรถบรรทุก ตรงข้ามสนามกอล์ฟเกียรติธานี ถนนบางนา-ตราด ขาออก กม.29 ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย เสียชีวิตภายในรถยนต์กระบะในที่เกิดเหตุ วันที่ 14 เม.ย. นายพรเทพ ทุมนอก อายุ 24 ปี ขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่สวมหมวกนิรภัย ดื่มสุรา เกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดกลับรถเกือกม้า บางนา-ตราด กม.21 เสียชีวิตที่โรงพยาบาลจุฬารัตน์

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบพบว่าตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. ถึงวันที่ 15 เม.ย. เวลา 08.36 น. เกิดอุบัติเหตุจำนวน 186 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 3 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บ 259 ราย ส่วนใหญ่ทำแผลรักษาพยาบาลแพทย์ให้กลับบ้านได้ ส่วนบาดเจ็บนอนในโรงพยาบาลยังไม่มีการยืนยันตัวเลขที่แน่นอน จึงไม่ทราบสาเหตุที่หน่วยงานที่รับผิดชอบทำไมต้องปกปิดข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุ
กำลังโหลดความคิดเห็น