xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจแผ่ว คลังเล็งชงต่ออายุแวต7%อีกปี ศุลกากรปล่อยของใน 1 ชม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังยังไม่มีแนวคิดในการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จากปัจจุบันจัดเก็บอยู่ในอัตรา 7% จนถึงวันที่ 30 ก.ย.2559 แม้ว่าจะมีข้อเสนอจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ให้ปรับขึ้นภาษีดังกล่าวก็ตาม เนื่องจากมองว่าขณะนี้เศรษฐกิจยังต้องการปัจจัยสนับสนุนเพื่อการเติบโต ดังนั้นการปรับขึ้นภาษีจึงอาจทำได้ยากและยังไม่เหมาะกับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในตอนนี้

“ยอมรับว่ากระทรวงการคลังมีการศึกษาแผนการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มมาโดยตลอด หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้ก็เสนอมาให้พิจารณาตลอด หากดำเนินการรายได้ของรัฐบาลก็จะเพิ่มขึ้น แต่การดำเนินการคงต้องพิจารณาถึงภาพรวมของเศรษฐกิจและความเหมาะสมที่จะดำเนินการ ซึ่งอาจยังไม่ใช่ช่วงนี้” นายสมชัยกล่าว

นายสมชัยกล่าวอีกว่า หากครบกำหนดเวลาในการคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 7% แล้วจะมีการพิจารณาขยายเวลา หรือมีการปรับขึ้นหรือไม่นั้น คงขึ้นอยู่กับนโยบายของฝ่ายรัฐบาลจะเป็นผู้พิจารณา

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังเตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และโครงการบ้านประชารัฐในส่วนของกรมธนารักษ์ รวมถึงนโยบายต่างๆ ที่สำคัญในช่วงหลังสงกรานต์ไปแล้ว

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอรัฐบาลพิจารณาคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่ 7% ต่อไป หลังจากจะสิ้นสุดมาตรการในวันที่ 30 ก.ย.2559 โดยมองว่าจากสภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก ดังนั้นจึงอาจจำเป็นที่ต้องคงการจัดเก็บภาษีดังกล่าวไว้ที่เดิมต่อไปอีก 1-2 ปี เพราะหากมีการปรับขึ้นภาษีในช่วงนี้จะส่งผลให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยน้อยลง ขณะเดียวกัน ควรพิจารณาปรับขึ้นครั้งละ 1% มากกว่าที่จะขึ้น 10% ในครั้งเดียว และมองว่าถ้าเศรษฐกิจไทยเติบโตถึง 5% ก็สามารถที่จะปรับขึ้นภาษีแวตได้

ด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า กรมศุลกากรได้จัดทำโครงการระบบการปล่อยสินค้าล่วงหน้า ที่ท่าเรือแหลมฉบังเป็นอันดับแรก ซึ่งเป็นการปล่อยสินค้าจากข้อมูลบัญชีสินค้าที่ส่งเข้ามาในระบบคอมพิวเตอร์ของศุลกากรก่อนที่สินค้าจะเข้ามาถึงประเทศไทย โดยเป็นระบบมาตรฐานศุลกากรโลก และการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ จะส่งผลถึงการพิจารณาการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจที่ธนาคารโลกจะเข้ามาสำรวจอีกครั้งในเดือน มิ.ย.นี้

สำหรับกระบวนการนั้นจะกำหนดให้ผู้ประกอบการสายเรือจัดส่งข้อมูลบัญชีสินค้าล่วงหน้าอย่างน้อย 6 ชั่วโมงก่อนเรือเข้าจริง จากนั้นเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรจะใช้เวลาตรวจสอบ 4 ชั่วโมง เพื่อบริหารความเสี่ยงจากข้อมูลบัญชีสินค้า ก่อนจะตอบกลับผลการติดตามความเสี่ยงให้กับผู้ประกอบการสายเรือและผู้ประกอบการท่าเรือไม่เกิน 1 ชั่วโมง จากเดิมใช้เวลา 5 วันจึงจะนำเรือเข้าในประเทศไทยได้
กำลังโหลดความคิดเห็น