xs
xsm
sm
md
lg

"รอยล"เตือนรัฐเฝ้าระวัง"น้ำเค็ม"ทะลักเจ้าพระยา หวั่นงบหมื่นล.ละลายแม่น้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่าจากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น ทำให้ในช่วงนี้ต้องเฝ้าระวังปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากมีคลื่นแรงในอ่าวไทยที่ได้รับอธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และอยู่ในช่วงพระจันทร์เต็มดวง ซึ่งจะส่งผลให้น้ำทะเลยกตัวสูง อย่างไรก็ตามหากกรมชลประทาน สามารถควบคุมให้การระบายน้ำเป็นตามแผน ภาคเกษตรไม่เอาน้ำในระบบไปใช้ ก็จะผลักดันน้ำเค็มได้ไม่เข้าระบบประปาได้

ทั้งนี้ต้องระวังน้ำเค็มไม่ให้รุกพืชด้วย ซึ่งพืชทนได้ประมาณ 2 กรัมต่อลิตร ก็ควรมีแผนสำรองป้องกันไว้ด้วย ซึ่งจากที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ พื้นที่ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ จะมี 6-7 แห่ง ที่มีปัญหา เช่น บางปะกง อุทัยธานี สุโขทัย ชัยภูมิ นครราชสีมา และภาคเหนือตอนบน โดยทุกภาคส่วนเตรียมแผนหาน้ำสำรองไว้ในขณะนี้ยังเป็นตามแผน

“อยากให้ไปดูพื้นที่จ. เพชรบูรณ์ ชุมชนต่างๆได้ขุดบ่อ ขุดสระไว้จำนวนมากสามารถรับน้ำได้40-70% และช่วงแล้งได้ใช้น้ำจากแหล่งน้ำตนเอง ทำให้ประสบปัญหาน้อย เป็นตัวอย่างให้ประเทศได้ว่า ถ้าเราทำโครงการเล็ก ๆอย่างนี้ให้ชุมชนจัดการ ฝ่ายรัฐสนับสนุน จะเกิดความยั่งยืน ทั้งลำน้ำป่าสัก ลำน้ำยม แก้ด้วยทำฝาย แต่ในจังหวัดภาคเหนือ มีปัญหาขาดแคลนน้ำเต็มไปหมด ภาคกลาง ไม่เคยทำที่ที่กักเก็บน้ำเอง เพราะใช้น้ำจากเขื่อนเป็นหลักพอฝนไม่ตกภาคเหนือ ป่าภาคเหนือก็เหลือน้อย ก็เกิดปัญหาไม่มีน้ำให้ใช้

ส่วนกรณีที่กรมชลฯมีโครงการสูบน้ำจากแม่น้ำโขง มาลงห้วยหลวง ผันน้ำจากแม่น้ำสาละวิน มาเติมเขื่อนภูมิพล มีสองโครงการใช้น้ำจากลำน้ำในไทยเองด้วย ต้องใช้งบมากมายมหาศาล แต่ขณะนี้โครงการสูบน้ำด้วยท่อเข้าเขื่อนอุบลรัตน์ จากลำน้ำชี แค่ระยะสั้นๆในจ.ข่อนแก่น หมดงบไปแล้ว 5 พันล้านบาท ตอนนี้ใช้ได้หรือไม่”

นายรอยล กล่าวต่อว่า ภาวะแห้งแล้งครั้งนี้ เกิดกับภาคเกษตรไม่มีน้ำให้เพาะปลูก ซี่งรัฐบาลก็ได้ใช้แผนช่วยเหลือเฉพาะหน้าไปแล้ว มีทั้งมาตการปรับเปลี่ยนจากข้าว เป็นปลูกพืชทนแล้ง จ้างงาน ขุดลอกคูคลอง ส่งเสริมปลูกพืชอื่น เป็นการหาทางออกแก้ไขให้กับเกษตรกร ส่วนจะได้ผลอย่างไร คาดการณ์ไว้ได้เป็นตามแผนหรือไม่ ทุกหน่วยงานต้องช่วยกันติดตาม เพราะงบประมาณแก้ภัยแล้งลงไปหมื่นๆ ล้าน และเท่าที่รู้ก็มีส่วนที่ไม่เป็นตามแผน ซึ่งต้องมาพิจารณาว่า จะแก้กันไขอย่างไรเพื่อให้ทันการณ์

ด้าน นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยกรณีปัญหาน้ำเค็มรุกขึ้นถึงพื้นที่ จ.ปทุมธานี ว่า ค่าความเค็มยังไม่กระทบกับน้ำดิบที่ใช้ผลิตน้ำประปาสำหรับพื้นที่กทม.และปริมณฑล แน่นอน ซึ่งจากการตรวจสอบค่าความเค็มแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากคลองสำแล จ.ปทุมธานี แหล่งน้ำดิบผลิตประปา ในช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ พบว่า อยู่ที่ระดับ 0.16 กรัมเกลือต่อลิตร ยังไม่เกินค่าเฝ้าระวัง คือ ระดับ 0.25 กรัมเกลือต่อลิตร ส่วนปากคลองจินดา แม่น้ำท่าจีน ค่าความเค็มยังอยู่ที่ 0.43 กรัมเกลือ ยังไม่กระทบกับสวนกล้วยไม้ และไม้ดอก รวมทั้งปากคลองดำเนินสะดวก ยังอยู่ที่ 0.44 กรัมเกลือ ทั้งลำน้ำสองแห่งยังไม่ถึงค่าเฝ้าระวังที่ระดับ 0.75 กรัมเกลือ

นายสุเทพ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ในลุ่มเจ้าพระยา มีปริมาณ 3.1 พันล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำเค็ม จนถึงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม โดยปล่อยระบายจากเขื่อนหลัก 4 แห่ง วันละไม่เกิน18 ล้านลบ.ม.ยังไม่พบการนำน้ำไปใช้นอกแผนโดยไม่นำน้ำให้กับพื้นที่การเกษตร

“ขณะนี้ระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ในปริมาณ 75 ลบ.ม.ต่อวินาที ระบายผ่านเขื่อนพระราม 6 ปริมาณ 20 ลบ.ม.ต่อวินาที ซี่งไม่ต้องเพิ่มการระบายแต่อย่างไร เพราะค่าความเค็มยังอยู่ระดับปกติ แม้เข้า ฤดูแล้งเต็มที่แล้วก็สามารถปล่อยน้ำได้ตามแผน ควบคุมค่าความเค็มไม่เกินเกณฑ์และไม่กระทบระบบผลิตประปาอย่างแน่นอน” นายสุเทพ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น