xs
xsm
sm
md
lg

ปูด “นิคมอุตฯ ลำพูน-นวนครโคราช” วิกฤตน้ำแล้ว! - กษ.ย้ำ 4 เขื่อนหลักเจ้าพระยามีน้ำใช้ถึงเดือน มิ.ย.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพมุมสูง นิคมอุตสาหกรรมนวนคร จ.นครราชสีมา (ภาพจากเพจ ดุษฎี  โคราช )
ปูด “นิคมอุตฯ ลำพูน-นวนครโคราช” จ่อวิกฤตน้ำ จี้ลดใช้ร้อยละ 30 ประหยัดได้ 180 ล้าน ลบ.ม.ต่อเดือน ด้าน กฟผ.เผยน้ำในเขื่อนภูมิพล และสิริกิติ์ ใช้ได้อีก 4 เดือน ปริมาณต่ำสุดในรอบ 30 ปี ส่วนเกษตรฯ เผย 4 เขื่อนหลักเจ้าพระยามีน้ำใช้ถึงเดือน มิ.ย. ปริมาณ 3,068 ล้าน ลบ.ม. ขอความร่วมมืองดสูบน้ำทำนาปรัง

วันนี้ (24 ก.พ.) นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงถึงสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ว่า ข้อมูลตั้งแต่ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 ถึง 23 กุมภาพันธ์ 2559 มีการใช้น้ำไปแล้วรวมทั้งสิ้น 1,868 ล้านลูกบาศก์เมตร คงเหลือน้ำใช้การได้จนถึงเดือนมิถุนายน 2559 ประมาณ 3,068 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก รวมกันประมาณวันละ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร ในส่วนของการเพาะปลูกข้าวนาปรังลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบว่ามีพื้นที่ทำนาปรังไปแล้วกว่า 1.96 ล้านไร่ มีแนวโน้มทรงตัว ปัจจุบันมีการเก็บเกี่ยวแล้ว 240,000 ไร่ ยังคงเหลือพื้นที่ที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวอีกประมาณ 1.72 ล้านไร่ ซึ่งน้อยกว่าปี 2557/2558 เนื่องจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ของรัฐบาลมารณรงค์ให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ

“ต้องขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทุกกิจกรรมการใช้น้ำ ให้ร่วมแรงร่วมใจกันรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีพื้นที่การเกษตรกรอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสายหลัก ขอให้งดสูบน้ำเพื่อการทำนาปรัง เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงมากที่ผลผลิตจะเสียหายจากภาวะขาดแคลนน้ำ รวมถึงปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศอาจจะไม่เพียงพอใช้ในอนาคต” โฆษกกระทรวงเกษตรฯ กล่าว

นายสุรพลกล่าวต่อว่า ขณะนี้สถานการณ์ความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำท่าจีน ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยกรมชลประทานได้มีการตรวจวัดค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจุดตรวจวัดน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่สำแล มีค่าความเค็มเฉลี่ยประมาณ 0.15 กรัมต่อลิตร ต่ำกว่าค่ามาตรฐาน เพื่อการผลิตประปาที่กำหนดไว้ไม่เกิน 0.25 กรัมต่อลิตร ไม่ส่งผลกระทบต่อน้ำดิบผลิตประปาของการประปานครหลวง รวมทั้งในลุ่มน้ำท่าจีน ค่าความเค็มยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ ที่ปากคลองจินดา 0.30 กรัมต่อลิตร ต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่กล้วยไม้รับได้คือ 0.75 กรัมต่อลิตร จึงไม่ส่งผลกระทบต่อสวนกล้วยไม้ในคลองจินดาแต่อย่างใดเช่นกัน ทั้งนี้ กรมชลประทานได้ติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนอย่างใกล้ชิด

อีกด้าน นายธนรัชต์ ภุมมะกสิกร ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ขณะนี้เขื่อนภูมิพลเหลือน้ำที่สามารถระบายได้อยู่ 800 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยทำการปล่อยน้ำออกมาวันละ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนเขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร และปล่อยออกมาวันละ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจน้ำในเขื่อนพบว่า ปริมาณน้ำทั้งในเขื่อนภูมิพล และสิริกิติ์ ต่ำสุดในรอบ 30 ปี โดยปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนให้ช่วยกันประหยัดน้ำ และได้ร่วมมือกับกรมชลประทานให้ช่วยแนะนำเกษตรกรเกี่ยวกับการใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูก คาดว่าปริมาณน้ำในเขื่อนทั้งสองจะสามารถใช้ได้อีก 4 เดือน

วันเดียวกัน หน่วยงานภาครัฐ และ 10 องค์กรเอกชน ร่วมกับหอการค้าและสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จัดโครงการ “แบ่งน้ำใช้ ปันน้ำใจ สู้ภัยแล้ง” โดยนำร่องใน 10 องค์กรเอกชน เช่น กลุ่มมิตรมิตร เอสซีจี ปตท. เซ็นทรัลกรุ๊ป ธนาคารกสิกรไทย และสมาคมโรงแรมไทย ในการประหยัดการใช้น้ำลงให้ได้ร้อยละ 30 โดยทั้งหมดได้ร่วมประกาศแผนลดการใช้น้ำ และการรณรงค์ประหยัดน้ำ อาทิ การบำบัดน้ำที่ใช้แล้วเพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำ การนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วม การประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ประชาชนร่วมใจประหยัดน้ำ เพื่อลดวิกฤติภัยแล้งที่หลายฝ่ายประเมินว่าในปีนี้ จะรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา

ในเวทีเสวนาดงานดังกล่าว นายทองเปลว กองจันทร์ ผอ.สำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน ยอมรับว่าสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาในปีนี้วิกฤตกว่าปีที่ผ่านมาล่าสุดเหลือน้ำเพียง 3,068 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งใช้ได้จนถึงเดือน มิ.ย. 2559 หากฝนไม่ตกจะทำให้มีน้ำใช้ได้ถึงต้นเดือนสิงหาคมเท่านั้น กรมชลประทานได้จัดสรรโควตาน้ำให้แต่ละภาคส่วนใช้จนถึงเดือนเม.ย. 2559 เราจึงต้องประหยัดน้ำโควตาเพื่อไม่ให้เกิดภาวะวิกฤต โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ด้านนายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดช่วงเดือน มีนาคมถึงเมษายน ซึ่งเป็นช่วงทำนาปรัง และช่วงเดือนเม.ย.ถึงพ.ค. ซึ่งเป็นช่วงทำนาปี ซึ่งจากสถานการณ์น้ำต้นทุนในปีนี้ที่น้อยกว่าปีที่ผ่าน ดังนั้นหน่วยงานรัฐจะต้องเร่งทำความเข้าใจ และใช้มาตรการเสริมด้านอื่นมารองรับ เพื่อป้องกันเหตุการณ์แย่งน้ำกัน

“ขณะนี้น้ำใช้ของนิคมอุตสาหกรรมพบว่ามีความเสี่ยง 2 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมลำพูน และนิคมอุตสาหกรรมนวนครที่จังหวัดนครราชสีมา ดังนั้น ประเมินว่าหากทุกภาคส่วนร่วมใจกันประหยัดน้ำให้ได้ร้อยละ 30 จะช่วยประหยัดการใช้น้ำได้ 180 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อเดือน ซึ่งจะทำให้มีน้ำเหลือเพียงใช้ได้จนถึงช่วงที่ฝนเริ่มตกพอดี”


หน่วยงานภาครัฐ และ 10 องค์กรเอกชน ร่วมกับหอการค้าและสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จัดโครงการ “แบ่งน้ำใช้ ปันน้ำใจ สู้ภัยแล้ง”
นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กำลังโหลดความคิดเห็น