xs
xsm
sm
md
lg

"เอแบค"ป่วนอีก รุมค้านกก.ควบคุม 2 ก๊กดิ้นทวงคืนอำนาจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภายหลังพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ออกคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 86 (4) และวรรค 2 ของ พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 ตั้งคณะกรรมการเข้าควบคุมมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) ตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 มกราคมที่ผ่านมาไปแล้วนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 มกราคม กลุ่มอดีตคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเสียงข้างมากจำนวน 12 คน นำโดย ดร.อุดม หงส์ชาติ นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้ออกแถลงการเรียกร้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ให้ทบทวนคำสั่งควบคุมมหาวิทยาลัย เนื่องจากเป็นการทำลายชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย และทำลายกระบวนการตรวจสอบการบริหารสถาบันอุดมศึกษาเอกชน อีกทั้งขัดต่อนโยบายของรัฐบาลในการเอาจริงเอาจังในเรื่องการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นปัญหารุนแรงของสังคมไทย

“ปัญหาของเอแบคคล้ายกับปัญหาประเทศในขณะนี้ คือ เรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ที่คนถือไม่เคร่งครัดในการบังคับใช้ ส่งผลให้ปัญหาลุกลามออกไปไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นเราได้พยายามยึดถือการดำเนินการตามกฎหมาย ตามระเบียบข้อบังคับต่างๆแล้ว แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควรจากทุกฝ่าย นอกจากนี้ยังมีกรณีคำสั่งศาลแพ่งที่ให้การคุ้มครองชั่วคราวการปฏิบัติหน้าที่รักษาการอธิการบดีของ นายสุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล ที่ยังเป็นปัญหาว่า การออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวนั้นเป็นการละเมิดคำสั่งศาลหรือไม่ ดังนั้นจึงขอให้มีการทบทวนการออกคำสั่ง ขณะเดียวกันอดีตกรรมการสภามหาวิทยาลัย จะยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวไปยัง รมว.ศึกษาธิการ ภายใน 30 วันด้วย” ดร.อุดม กล่าว

วันเดียวกันมีรายงานข่าวจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญแจ้งว่า หลังจากคณะกรรมการควบคุมนำโดย รศ.ดร.อานนท์ พร้อมด้วย ดร.มัทนา สานติวัตร อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในฐานะผู้ปฏฺิบัติหน้าที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เข้าปฏิบัติงานวันแรกเมื่อวันที่ 25 มกราคม โดยมีการเรียกประชุมประชาคมเอแบค ประกอบด้วย คณบดีทุกคณะและผู้อำนวยการหน่วยงานภายในทุกหน่วย เพื่อมารับฟังนโยบายในการควบคุมของคณะกรรมการ

รายงานข่าวระบุว่า การเข้ามาดำเนินการของคณะกรรมการควบคุมครั้งนี้ ได้ส่อเค้าปัญหาขึ้นมา เนื่องจากก่อนหน้าจะมีการประชุมร่วมกับประชาคมเอแบค คณะกรรมการควบคุมได้เรียกประชุมกันตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา พร้อมกับมีคำสั่งออกมา 3 เรื่อง ประกอบด้วย 1.แต่งตั้ง ดร.มัทนา เป็นผู้ปฏฺิบัติหน้าที่อธิการบดีเอแบค 2.ออกคำสั่งให้อธิการบดี รองอธิการบดี ผู้ช่วยอธิการบดี พ้นจากตำแหน่ง และขอให้ส่งมอบบัญชีทรัพย์สินให้คณะกรรมการควบคุม และ 3.ออกคำสั่งให้คณบดี อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยทุกคนปฏิบัติงานต่อไปตามปกติ แต่การออกคำสั่งดังกล่าวกลับไม่มีหนังสือหรือมีการแจ้งให้ มูลนิธิคณะเซนต์คาเบรียลแห่งประเทศไทย ซึ่งเจ้าของผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งมหาวิทยาลัย ได้รับทราบอย่างเป็นทางการ โดยทราบจากการนำเสนอข่าวผ่านสื่อเท่านั้น

“คำสั่งแต่งตั้งอธิการบดีคนใหม่ และคำสั่งให้อธิการบดี รองอธิการบดี และผู้ช่วยอธิการบดี พ้นจากตำแหน่ง ถูกตั้งคำถามอย่างหนักว่า เป็นการออกคำสั่งที่ผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะตามที่อ้างในมาตรา 87 ของ พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน มิได้ให้อำนาจในการแต่งตั้ง ถอดถอน อธิการบดี รวมไปถึงการให้พ้นจากตำแหน่งของรองอธิการบดีและผู้ช่วยอธิการบดี ก็ไม่สามารถทำได้ จะมีก็เพียงแต่ให้อำนาจในการสั่งอธิการบดี และคณาจารย์หยุดปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น ซึ่งเมื่อมีการซักถามเรื่องนี้ ประธานกรรมการควบคุมก็ไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนใดๆ ได้” รายงานข่าวระบุ

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ รศ.ดร.อานนท์ ออกมายอมรับต่อสื่อมวลชนว่า ก่อนหน้าจะมีการประชุมกับประชาคมเอแบค ได้ไปหารือเป็นการส่วนตัวกับ นายสุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล ซึ่งเรื่องดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจให้กับประชาคมเอแบคค่อนข้างมาก เพราะ นายสุทธิพร เป็นหนึ่งในคู่ขัดแย้งที่ก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมาในมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะการถูกตั้งข้อสงสัยเรื่องผลประโยชน์จากโครงการจัดซื้อเครื่องฝึกบินจำลองที่ตนเองเป็นผู้นำเข้ามาเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย ดังนั้นการที่จู่ๆ มีการไปพูดคุยกับ นายสุทธิพร แล้วจะสามารถสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นในประชาคมเอแบคได้อย่างไร

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ระหว่างการประชุมตัวแทนคณาจารย์และผู้ปฏิบัติงาน ได้ตั้งทวงถามให้มีการเปิดเผยผลการสอบสวนของคณะกรรมการที่ รมว.ศึกษาธิการ แต่งตั้งขึ้นก่อนจะมีประกาศควบคุมมหาวิทยาลัย และได้ดำเนินการตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว แต่กลับไม่มีการนำมาเปิดเผย จึงทำให้เกิดความสงสัยว่าเพราะเหตุใดจึงไม่เปิดเผย เนื่องจากทุกคนต่างมั่นใจว่าผลการตรวจสอบจะไม่พบการทุจริตเกิดขึ้นตามที่ นายสุทธิพร หรือกรรมการสภามหาวิทยาลัยเสียงข้างมากกล่าวหา

“ความยุ่งยากที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย ควรจบลงด้วยดีหลังการประกาศใช้ ม.86 แต่กลับทวีความตึงเครียดมากขึ้น นอกจากนี้การดำเนินการของคณะกรรมการควบคุม ก็เปรียบเสมือนไม่ให้เกียรติต่อศาสนจักร โดยเฉพาะการออกคำสั่งต่างๆ ประธานมูลนิธิเซนต์คาเบรียลก็ไม่ได้รับการบอกกล่าวใดๆ และจนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีเอกสารต้นฉบับมาให้แม้แต่ฉบับเดียว รวมทั้งการแต่งตั้งผู้บริหารที่มิได้เป็นนักบวชในสถานศึกษาคริสต์ก็เป็นการไม่ให้เกียรติศาสนจักรอย่างรุนแรง ดังนั้นจึงจะมีการใช้อำนาจตามมาตรา 90 ยื่นขอคืนอำนาจการควบคุมมหาวิทยาลัยต่อไป” รายงานข่าวระบุ

ด้าน รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา หนึ่งในคณะกรรมการควบคุมมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยว่า คณะกรรมการควบคุมได้ประชุมหารือถึงการสรรหารองอธิการบดีมาช่วยงาน โดยจะพิจารณาจากรองอธิการบดีเดิมที่สามารถทำงานต่อไปได้ อย่างน้อย 5 คน เช่น รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ฝ่ายบุคคล ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายต่างประเทศ รวมถึงคณบดีก็ให้ทำงานต่อไป ยกเว้นเกิดปัญหาความขัดแย้งก็หาคนนอกเข้าไปได้

นอกจากนี้ในวันเดียวกันนี้ ดร.มัทนา ได้เดินทางไปพบ ภราดาประทีป มาร์ติน โกมลมาศ ซึ่งเป็นผู้ขอรับใบอนุญาติจัดตั้งมหาวิทยาลัย และ ภราดาบัญชา แสงหิรัญ อดีตอธิการบดี เพื่อหารือถึงการทำงานของคณะกรรมการควบคุม ให้เป็นไปตามนโยบายของ รมว.ศึกษาธิการ ส่วนกรณีจะมีการอุทธรณ์คำสั่งเรื่องการควบคุมมหาวิทยาลัยนั้น เป็นสิทธิของทุกฝ่ายที่ดำเนินการ และจะไม่มีการใช้สิทธิใดๆ เข้าไปปิดกั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น