xs
xsm
sm
md
lg

คำต่อคำ : คืนความสุขให้คนในชาติ 18 ธันวาคม 2558

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สวัสดีครับพ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน ก่อนอื่นผมขอร่วมกับพุทธศาสนิกชนไทยทุกคน พร้อมด้วยสมเด็จพระสังฆราช ประธานสงฆ์ และผู้นำศาสนาจาก 13 ประเทศ ในการรวมใจน้อมส่งเสด็จ และถวายอาลัย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก อีกครั้ง และขอขอบคุณคณะกรรมการอำนวยการจัดงานพระศพ เจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการถ่ายทอด รวมการเฉพาะกิจ ฯ ทางโทรทัศน์ ประชาชนได้ชื่นชมกันทั้งประเทศด้วยความอาลัย และงดงามในประเพณีของไทยที่มีมาแต่โบราณกาล

อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องของการจัดริ้วขบวนเคลื่อนพระอิสริยยศในการแห่เชิญพระศพ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สง่างาม สมพระเกียรติ ตลอดจนพิธีบำเพ็ญกุศลสวดพระอภิธรรมและถวายดอกไม้จันทน์ และพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สมพระเกียรติ และถูกต้องตามโบราณราชประเพณีด้วย

สัปดาห์นี้ผมขอเป็นตัวแทนพี่น้องประชาชนชาวไทย ขอแสดงความชื่นชมและขอบคุณกองทัพนักกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ รวมทั้งสตาฟโคช เจ้าหน้าที่ และทีมงานของประเทศไทยทุกคน ที่ได้นำพาความสุขมาสู่คนไทย และความสำเร็จมาสู่ประเทศชาติในด้านการกีฬา ด้วยการคว้าตำแหน่งเจ้าเหรียญทองในการแข่งขันอาเซียนพาราเกมส์ 2015 ครั้งที่ 8 ณ ประเทศสิงคโปร์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยผมได้มีโอกาสติดตามชมการแข่งขันอยู่บ้าง โดยได้มีการถ่ายทอดการให้กำลังใจไปทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และได้รับการรายงานเป็นระยะ ๆ ว่ามีความสำเร็จอะไรไปบ้าง ผมก็ชื่นชม และให้กำลังใจมาตลอด สุดท้ายนี้ ก็ขอชื่นชมในความมุ่งมั่นอีกครั้งหนึ่ง ตั้งแต่การเตรียมความพร้อมในสนามซ้อม และหัวใจนักสู้ที่ไม่ยอมแพ้ในทุกสนามการแข่งขัน อีกทั้งยังประทับใจในความสามารถ ความสามัคคี และน้ำใจนักกีฬาที่แท้จริง ความสำเร็จครั้งนี้นะครับ นำเกียรติยศและความภาคภูมิใจมาสู่ตนเอง ครอบครัว และประเทศชาติ ผมขอแสดงความยินดีด้วยอีกครั้งหนึ่งนะครับ

อีก 2 สัปดาห์ที่เหลือของปี 2558 นี้ สิ่งสำคัญที่ผมอยากให้พี่น้องประชาชนติดตาม คือระหว่างวันที่ 23 - 25 ธันวาคม 2558 จะเป็นการแถลงผลงานครบรอบ 1 ปี ของรัฐบาลนะครับ ซึ่งจริงๆ แล้วเราแถลงครั้งหนึ่งแล้วในปีแรก นี่เป็นปีที่ 2 นะครับ เพื่อจะสรุปสิ่งที่ดำเนินการไปแล้ว ในการที่จะสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน รวมทั้งชี้แจงแผนงานที่จะดำเนินการต่อไปในอนาคตทั้งหมด ซึ่งจะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมาก เป็นข้อเท็จจริงในเรื่องปัญหาของประเทศ กระบวนการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ซึ่งหลายเรื่องจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมทั้งการดำเนินการร่วมกันแบบประชารัฐ

ทั้งนี้ รัฐบาลจะเปิดโอกาสให้ประชาชน นักวิชาการ และผู้ที่สนใจ รวมทั้งผู้สื่อข่าวได้ซักถาม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดจนเสนอแนะต่างๆ ได้ เพื่อที่เราจะนำไปสู่การแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว และเป็นไปตามความต้องการ แต่ทั้งนี้ จะต้องรักษากฎกติกานะครับ เรื่องกฎหมาย กระบวนยุติธรรม ช่องทางที่ถูกต้อง ในการที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เสนอความคิดเห็นใดๆ ก็ตาม อย่าไปเสนอในช่องทางที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อแผ่นดินโดยส่วนรวมนะครับ วันนี้อยากให้ติดตามนะครับ การแถลงผลงาน ทั้งนี้ทั้งนั้นในส่วนของรองนายกรัฐมนตรีทุกท่าน และรัฐมนตรีเจ้าสังกัด ท่านพร้อมจะชี้แจงตอบคำถามท่านได้ทุกเรื่องนะครับ

สำหรับของขวัญปีใหม่จากรัฐบาล ที่แต่ละกระทรวงเตรียมการ เพื่อที่จะคืนความสุขให้กับพี่น้องประชาชนทุกคนนั้น จะได้ทยอยประชาสัมพันธ์ให้ทราบในช่องทางต่างๆ นะครับ คือของขวัญคงไม่ใช่เฉพาะในปีใหม่อย่างเดียว บางอย่างเป็นการเริ่มต้น และจะไปทำให้เกิดความสำเร็จปีหน้า เป็นการเริ่มต้นโครงการสำคัญๆ ต่างๆ เพราะว่าเราทำตามโรดแมปมาตลอด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่จะต้องทำการปฏิรูปในปีหน้า จนกระทั่งถึงปี 60 นะครับ

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานั้น ผมได้มีโอกาสเป็นประธานในพิธีเปิดการทดสอบรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางใหญ่-เตาปูน ณ ศูนย์ซ่อมบำรุงคลองบางไผ่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี นับว่าเป็นรถไฟฟ้าสายแรกที่เปิดประตูจากกรุงเทพฯ เข้าสู่เขตปริมณฑล ซึ่งคงจะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรที่ติดขัดลงได้ สำหรับโครงการต่างๆ ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะมีดังนี้ โครงการที่ดำเนินการก่อสร้างอยู่ในปัจจุบันมี 4 โครงการนะครับ ได้แก่ สายสีม่วงบางใหญ่- เตาปูน ซึ่งจะเปิดให้บริการในเดือนสิงหาคม 2559 สายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ที่มีอุโมงค์รอดแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งจะเปิดให้บริการในปี 63

สายสีเขียวตอนใต้ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และสายสีเขียวตอนเหนือ ช่วงหมอชิต-คูคต ที่ต่อขยายจากสายสีเขียวเดิม โดยจะเปิดให้บริการปี 63 และกำลังเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก 1 โครงการคือ สายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ซึ่งมีแผนจะเปิดให้บริการในปี 63 จะเป็นโครงข่ายเส้นแรกที่เชื่อมกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตกกับฝั่งตะวันออก ระยะทาง 21 กิโลเมตร มี 17 สถานี เมื่อเสร็จสมบูรณ์แล้วจะสามารถเชื่อมโยงเข้ากับโครงการรถไฟฟ้าสายอื่นได้อีก 4 สาย คือสายสีแดง สีน้ำเงิน แอร์พอร์ตเรลลิงก์ และสายสีชมพู

เรื่องรถไฟฟ้านี่ก็เหมือนกัน ผมได้สั่งการเพิ่มเติมให้กระทรวงคมนาคมไปปรับในเรื่องของแผนการขนส่งมวลชนให้เป็นทั้งระบบ โดยมองความเชื่อมโยงทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจากรถเมล์ รถไฟ รถไฟฟ้า ต่างๆ มันต้องเชื่อมโยงในแนวทางการสัญจรไปมาของประชาชนในแต่ละภูมิภาค เข้าสู่ศูนย์กลาง เข้าสู่กรุงเทพฯ เชื่อมโยงไปประเทศเพื่อนบ้าน เชื่อมโยงไปยังประชาคมอื่นๆ ในอนาคตได้ด้วย ฉะนั้น ถ้าเราไม่ออกแบบอันนี้ไว้ทั้งหมด มันก็จะทำทีละเส้น ทีละสาย ก็สิ้นเปลืองงบประมาณมาก ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ควบคุม ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ซ่อมบำรุง

เพราะฉะนั้นถ้าหากเราสามารถประหยัดงบประมาณลงไปได้ ประกอบไปกับเรื่องของการคิดในเรื่องของแผนการกำหนดผลประโยชน์ไว้ล่วงหน้า ตามสองข้างทางไว้ด้วย ในการวางแผนที่จะก่อสร้างต่อไป มันก็จะได้มีเงินมาชดเชยในช่วงระยะแรก ซึ่งมันอาจจะต้องขาดทุนทุกอย่าง ทั้งรถไฟ รถไฟฟ้าอะไรก็แล้วแต่ รถไฟฟ้าช่วงแรกๆ ก็ขาดทุน วันนี้ดีขึ้น แต่ผมมีต้องการว่าทำยังไงราคามันจะถูกลง ให้คนมีรายได้น้อยเขาขึ้นได้บ้าง นั่นล่ะมันไปสู่ที่ผมคิดเรื่องบัตร อะไรทำนองนั้น ยังไม่ได้ข้อยุติ ก็คิดว่าทางกระทรวงการคลังคงจะชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติม เพราะส่วนใหญ่เป็นเรื่องของมาตรการทางการเงินการคลังในเรื่องของการช่วยเหลือ การให้บริการ เรื่องภาษีต่างๆ ก็จะไปร่วมกันพิจารณาในเรื่องบัตรต่างๆ นั้น โดยไม่ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล เราก็มีแฟ้มความลับ

สำหรับโครงการที่เอกชนร่วมทุนกับรัฐ กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการร่วมทุน (ทีพีพี) เป็นโครงข่ายรถไฟฟ้ารางเดียว มีแผนจะเปิดให้บริการในปี 63 จำนวน 2 โครงการ คือ สายสีชมพู มีนบุรี-แคราย สายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการอีไอเอ และเกาะรัตนโกสินทร์จำนวน 1 โครงการ ที่เป็นส่วนต่อขยายสายสีม่วง ลงทางใต้ ผ่านเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน สถานที่ท่องเที่ยว สถานที่สำคัญจากเตาปูนถึงราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร

นอกจากนั้น ยังมีอีก 4 โครงการที่จะต่อขยายสายสีส้ม สีน้ำเงิน สายสีเขียว ด้วยระบบการขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ-ปริมณฑล มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นในอนาคต และเชื่อมโยงจากการเดินทางสัญจรไปมาในการขนส่งมวลชนประเภทอื่นด้วยนะครับ จากต่างจังหวัดเข้ามาเชื่อมโยงอะไรให้ได้ ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบ

ข้อสำคัญอีกประการคือ เรื่องการแก้ปัญหาการจราจรที่ติดขัด ถึงแม้จะมีรถไฟฟ้าหรืออะไรก็ตาม จะมีปัญหาเรื่องการจอดรถอยู่ดี ผมให้แนวทางไปแล้วว่า ลองหาทางดูว่า จะร่วมทุนกัน หรือหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการทำธุรกิจจัดทำที่จอดรถ ให้บริการในพื้นที่ที่การจราจรติดขัด เช่น ในศูนย์การค้า หรือทุกรถ ทุกคนที่ขับเข้ามาไปจอดถึงหน้าสถานที่ประกอบการธุรกิจเลย ทำให้การจราจรติดขัด จะต้องมีที่จอดรถระยะห่างเพียงเล็กน้อย 300 เมตรบ้าง 500 เมตรบ้าง เพื่อให้คนได้เดินออกกำลังกายบ้างแล้วกันไปมา แล้วแต่ท่านจะสมัครใจนะครับ ไม่บังคับใครอยู่แล้ว เดี๋ยวจะหาว่าผมบังคับให้รถไปจอดลำบากอีก ทุกคนมีรถ อยากไปถึงที่ แต่จะทำอย่างไรได้ การแก้ปัญหาจราจรด้วยตำรวจ ด้วยจราจร ด้วยวิธีการอื่น ทำไม่ได้หรอก รถเยอะกว่าถนนตอนนี้ ต้องไปหาวิธีการแก้อย่างอื่น หาที่จอดรถมากๆ และเชื่อมโยงที่จอดรถกับรถไฟฟ้าที่จะเชื่อมต่อระยะยาวนะครับ เพราะว่ามันจะขาดเป็นตอนๆ ไม่ได้ มันไปไม่ถึงที่ทำงานว่า จะต้องทำยังไงราคามันจะถูกลง และต้องไปชดเชยด้วยอะไร ด้วยการหารายได้ไหมในสถานที่ขายตั๋ว ในสถานีต่างๆ มันต้องทำทีเดียวนะผมว่า มันต้องวางแผนทีเดียว วางแผนและไปหาผู้ประกอบการมาร่วมทุนกับรัฐอะไรก็แล้ว เพื่อให้การบริการมันสะดวก รวดเร็ว ประหยัด มีเงินชดเชยในการผ่อนชำระเงินกู้ หรือเงินงบประมาณอะไรก็แล้วแต่นะครับ ความสะดวกรวดเร็วจะต้องมีความปลอดภัยด้วย เพื่อจะลดอุบัติเหตุ ปีๆ หนึ่งเราสูญเสียคนจากอุบัติเหตุไปเป็นจำนวนมากนะครับ มันทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ สูญเสียกำลังเจ้าหน้าที่ สูญเสียอะไรทุกอย่างนะครับ อันนี้ผมไม่อยากให้เกิดขึ้นอีกเลย ต้องเริ่มกันตั้งแต่วันนี้

สำหรับโครงการจัดทำข่ายการคมนาคมขนส่ง และระบบลอจิสติกส์ ที่เราจะต้องพิจารณาความเหมาะสมของวงแหวนรอบนอก รอบใน จุดเชื่อมต่อนะครับ เราต้องมองไปข้างหน้าอีกด้วยในเรื่องของการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ลดระยะเวลา ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าบริการต้องไม่สูงเกินไป ต้องคำนึงถึงประชาชนผู้มีรายได้
น้อยด้วย ขณะเดียวกันต้องมีเงินมาสนับสนุนในเรื่องของการลงทุนด้วย

ต่อไปคือเรื่องของการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ มันต้องไปคู่กัน คู่ขนานกันไป ทำยังไงจะเกิดความสมดุล มีผู้เดือดร้อน มีผู้ได้รับประโยชน์ มีการพัฒนาประเทศ ทำอย่างไรมันจะเกิดความสมดุล ถ้ามันขัดแย้งกัน 3-4 อย่าง มันไปไม่ได้ทั้งหมด และมันจะทำให้ไม่เกิดความเชื่อมั่นในการลงทุน และการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยที่เป็นปัญหาสำคัญของเราอยู่

ประการสำคัญอีกอันหนึ่งก็คือการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนในประเทศที่มีศักยภาพเข้าร่วมลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการทำที่จอดรถ ที่ผมกล่าวไปแล้ว การพัฒนาพื้นที่ตามแนวทางเดินรถ จัดทำที่พักอาศัย ตลาด ศูนย์การค้า อะไรก็แล้วแต่ ในพื้นที่ของรถไฟ หรือรถไฟฟ้า ซึ่งมันมีปัญหาเรื่องเดียวก็คือเรื่องกฎหมาย ต้องแก้ไข พ.ร.บ.ให้สามารถทำประโยชน์ได้จากในพื้นที่เหล่านี้ให้ได้ เราติดข้อกฎหมายอยู่ ซึ่งรัฐบาลคงจะเดินหน้า จะได้มีพื้นที่ให้กับประชาชนค้าขาย หรือการลงทุนต่างๆ ของธุรกิจมากขึ้น ก็จะเสริมในเรื่องของการพัฒนาตามพื้นที่ต่างๆ เหล่านั้น สร้างชุมชนเมืองขึ้นมาใหม่ คือถ้ามันใช้เงินทีเดียวมันก็ลำบาก มันต้องหาคนมาร่วมทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

สำหรับการพัฒนาพื้นที่ตามแนวทางเดินรถนั้น มันจะต้องเชื่อมต่อกับโครงการอุตสาหกรรมในประเทศอื่นด้วย อาทิเช่น เราอาจจะทำรถไฟ รถไฟฟ้า ระยะแรกซื้อเขามาทั้งหมด ระยะที่สอง บางอย่างอาจจะต้องซื้อ เฉพาะตัวรถหลัก กับเครื่องยนต์ ภายในประกอบเอง ผลิตเอง สถานี ศูนย์ซ่อมสร้างอะไรต่างๆ เหล่านี้ ใช้วัสดุในประเทศทั้งสิ้น มันจะได้ประหยัดลง สร้างห่วงโซ่ของคุณค่า ห่วงโซ่การผลิต ให้มีรายได้ ทุกอย่างไปเชื่อมต่อถึงเอสเอ็มอี เราต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะคน ไม่ว่าจะเทคโนโลยี การผลิตเอง อะไรต่างๆ เหล่านี้ มันทำให้ประเทศเข้มแข็งขึ้น ถ้าเราซื้อทุกอย่างมาตลอด ไม่ได้หรอกครับ เหมือนกับเรื่องรถเมล์ เมื่อวานผมก็สั่งการเพิ่มเติม ไปหาวิธีการมาซิว่า จะซื้อมาตั้งนานแล้ว ยังซื้อไม่ได้เลย ตอนนี้ก็สั่งการไปแล้ว ไปหาทางมาซิว่าจะทำยังไง เรื่องการประมูลที่ผ่านมาซึ่งมันไม่ชัดเจน เป็นเรื่องของกระทรวงคมนาคมไปพิจารณามา

ผมก็ได้สั่งการไปใหม่ว่า ถ้าเราจะทำระยะแรกได้ไหม คือในเรื่องของการซื้อรถมาเพื่อให้ใช้ได้โดยเร็ว ทดแทนรถที่มันชำรุด หมดอายุ เพราะฉะนั้นเมื่อซื้ออันแรกมาแล้วมันก็เป็นแบบอย่าง ตัวอย่าง ขณะเดียวกันก็ไปจ้างภาคการผลิตของเราซิ พวกต่อรถ อู่ต่อรถที่เรามีอยู่แล้วเดิม รถโดยสารเนี่ย เขาทำได้มั้ย ระยะแรกอาจจะเอาเพียงแค่ซื้อมา บางอย่างทำเองได้ บางอย่างก็ซื้อมาประกอบ สุดท้ายระยะที่สามก็คือผลิตเอง ระหว่างนี้ถ้ามันเดือดร้อน ถ้ามันเร่งด่วน ก็ซื้อมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ รถไฟฟ้า รถไฟ อะไรก็แล้วแต่ วันหน้าต้องผลิตเองให้ได้ คงผลิตชิ้นส่วนหลักไม่ได้อยู่แล้วล่ะ เราไม่ทันเขา แต่ส่วนประกอบ เราควรจะทำได้ทั้งหมด เพื่อจะลดการใช้จ่ายภาครัฐให้มากขึ้น และส่งเสริมการผลิตในประเทศในเรื่องอุตสาหกรรมต่างๆ ให้แข็งแรงขึ้น อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมการประกอบชิ้นส่วนอะไรต่างๆ เหล่านี้ เราพร้อมทั้งหมดล่ะเพียงแต่ว่ามันไม่ได้มีการเชื่อมโยงความต่อเนื่อง เกื้อกูลซึ่งกันและกัน ในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา วันนี้ก็พยายามนะ เวลาเราก็มีอยู่แค่นี้ ผมก็เริ่มต้นให้แล้วกัน

สำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศนั้น เราใช้แนวทางประชารัฐ ที่ผ่านมานั้นผมเอง ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ก็ได้มีการพบปะหารือร่วมกันกับคณะผู้ผลิตไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตไทยขนาดใหญ่ ทั้งข้ามชาติ ทั้งขนาดใหญ่ในประเทศเหล่านี้ ในหลายมิติ หลายกิจกรรมด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปเศรษฐกิจในเชิงโครงสร้าง ความร่วมมือ เพราะว่ารัฐจะดำเนินการฝ่ายเดียวคงไม่ได้ เราไม่มีเงินเพียงพอ เรากำลังสร้างความเข้มแข็งอยู่ รายได้ประเทศจะต้องเพิ่มขึ้นมากในอนาคต เพราะฉะนั้นทุกคนควรต้องร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐ ประชาชน ภาคธุรกิจ เอกชน ในการสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาล ผมเข้าใจนะครับเรื่องการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าใจถึงความต้องการของประชาชนในชนบท แต่ท่านอยู่แบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว ท่านต้องทำยังไงให้เกิดความสมดุล ระหว่างเรื่องการพัฒนาประเทศ กับเรื่องการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มันมีวิธีการปฏิบัติหลายอย่างที่จะชดเชยกันได้ แต่ไม่ใช่ทำลายหมด ใช้หมดสมัยเราไม่ได้ ที่ผ่านมา เป็นอย่างนั้น วันนี้ยากเหมือนกัน เพราะว่าประชาชนยังเดือดร้อน ลองไปคิดดูนะครับ ว่าเราจะทำยังไง เราจะร่วมมือรัฐบาลได้ตรงไหนนะครับ ในการดูแลช่วยเหลือ ผมถือว่า ช่วยเหลือซึ่งกันและกันนะครับ รัฐบาลก็จะช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย ตลอดจนภาคธุรกิจอื่นๆ ด้วย ต้องดูแลทุกคนทุกกลุ่ม เพราะฉะนั้น ทุกกลุ่มต้องช่วยเหลือรัฐบาลด้วยในระยะนี้ ซึ่งเรายังไม่เข้มแข็งเพียงพอ

เรื่องการพูดคุยกับนักธุรกิจนั้น พูดถึงเรื่องการเชื่อมโยงภาคธุรกิจต่างๆ ทั้งระบบ ตั้งแต่ธุรกิจขนาดใหญ่ ข้ามประเทศ ในประเทศ กลาง เล็ก ค้าปลีก ค้าส่งทั้งหมด ขนาดใหญ่ เข้ามาด้วยกัน มาคุยกันว่าจะร่วมมือกันได้ตรงไหนกับรัฐบาล ในการขับเคลื่อนประเทศ สำหรับประชารัฐ ถ้ารัฐบาลเริ่มต้น กำหนดนโยบาย ทำกฎหมาย อำนวยความสะดวก เพราะฉะนั้น ภาคธุรกิจควรจะมาส่งเสริมรัฐเรื่องเหล่านี้ เอาประชาชนมาเรียนรู้ เข้าสถาบันวิจัย ดูแลเรื่องการศึกษา ขยายเรื่องของการผลิตคนให้ตรงความต้องการ เพราะวันนี้ ผมเป็นห่วงอย่างเดียวคือ จบปริญญาไปแล้วไม่มีงานทำ มันขาด เพราะว่าขีดความสามารถการแข่งขันเรายังน้อยอยู่ เราต้องพัฒนาบุคลากรภาคธุรกิจสำคัญที่สุดนะครับ ก่อนอื่นๆ เลย ใครก็ต้องการ ถ้าเราสอนให้คนเรียนรู้ ให้คนฉลาดให้คนมีความคิด มีวิสัยทัศน์ บางที เราขาดการคิดวิเคราะห์ ผมคิดว่าอย่างนั้นนะ คนไทยยังไม่ค่อยถนัดเรื่องเหล่านี้ อยากฝากทุกคนด้วย ผมเองต้องพัฒนาตัวเองเหมือนกันในการคิดเชิงวิเคราะห์ เชิงกระบวนการ เชิงบูรณาการ ทั้งหมด เราพูดกันมาเยอะแล้ว แต่ถ้าพูดถึงการนำสู่การปฏิบัติ การขับเคลื่อนให้เป็นคนรู้เท็จจริง ผมว่า เกิดได้ยังไม่ถึง 50% นะ และเราต้องเน้นให้ความรู้ การพัฒนาตนเอง เรื่องสินค้าต้องมีการพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์นะครับ ดีไซน์ใหม่ กล่อง รูปร่างให้น่าซื้อ น่าใช้ เพื่อจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันตลาด ถึงจะแพงกว่าเขาหน่อย ต้นทุนเราสูงกว่า แต่คนยังอยากซื้อ เพราะสวยงาม และมีคุณภาพตามที่โฆษณาไว้ ตามสตอรี่ที่เขียนไว้ มันจะเพิ่มมูลค่าให้สินค้า และสร้างรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่แท้จริง ในพื้นที่ผมเกรงอย่างเดียวเรื่องการไม่พัฒนา เรื่องเพิ่มคุณภาพการผลิตนวัตกรรมใหม่ จากวัสดุเดิม เช่น ผ้าไหม ผ้าขาวม้า ผ้าไหมผมไม่ห่วงนะ ทุกคนให้ความสำคัญ ใส่กันเยอะ โดยเฉพาะสมัยรัฐบาลนี้ ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ ท่านทรงเริ่มต้นให้เรานานแล้ว วันนี้ผมพยายามขับเคลื่อนตรงนี้อยู่

เรื่องการสร้างความเข้มแข็งในชนบนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ถ้าประชาชนมีรายได้ไม่เพียงพอ ไม่มีการสร้างผู้ประกอบการใหม่ ผู้ผลิตก็ไม่รู้ขายใคร พอขายแล้วคนตรงนี้ ผลิตมูลค่าเพิ่มไม่ได้ ไม่เป็น ไม่พร้อม มันก็ขยายไม่ได้ รุ่นใหม่เกิดไม่ได้ ก็อยู่แบบนี้ ทรงๆ ทรุดๆ ไปเรื่อย เพราะฉะนั้น วันนี้ต้องเร่งเรื่องโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์ สร้างนักธุรกิจใหม่ การสร้างนักธุรกิจเพื่ออนาคตนะครับ การปฏิรูประบบการศึกษา เรื่องการดูแลพัฒนาครู นักเรียน โรงเรียน สถานที่ศึกษานะครับ โดยใช้กิจกรรม ซีเอสอาร์ ของภาคธุรกิจ ที่ผมกล่าวเมื่อซักครู่ มาสนับสนุนด้วย ส่งเสริมเรื่องลดเวลาเรียน เพิ่มเวลาเรียนรู้ ถ้าช่วงบ่ายมีโอกาสไปศึกษาเล่าเรียนดูงาน มีกิจกรรมร่วมในบรรดาสถานประกอบการที่สำคัญๆ ให้เด็กมีความกระตือรือร้นสนใจ มีการปรับเปลี่ยนว่าที่เราคิดเรื่องเดิม อาจไม่เหมาะสม มาอย่างนี้รู้สึกชอบแบบนี้ มันได้ลดการเรียนเพื่อปริญญาออกไปบ้าง เรียนอาชีวะก่อนบ้าง ผมเข้าใจทุกคนอยากได้ปริญญาหมด เพราะเราถือว่า ปริญญาคือสุดยอด วันนี้ ต้อง 2 อย่างนะ ปริญญา สุดยอด และมีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้เพียงพอ เป็นสุดยอดเหมือนกัน สุดยอด 2 สุดยอด 3

เรื่องการฝึกวิชาชีพ ผมคิดว่า วันนี้ เรามีสถานประกอบการเยอะแยะ ไม่ว่าจะของไทย ของต่างประเทศ ผมขอร้องไป แล้วก็กำหนดไปในการลงทุนใหม่ ว่าถ้าหาเขามีการร่วมมือในเรื่องนี้ เราก็จะดูแลเรื่องสิทธิพิเศษ สิทธิประโยชน์ ให้มากขึ้นตามความเหมาะสม ไปดูแลสถานศึกษาในพื้นที่บ้าง โรงงานโน้น โรงงานนี้ ไปดูโรงเรียน ไปดูกิจกรรม เอา CSR ไป งบประมาณ เหล่านี้ไปส่งเสริมการศึกษา หรือไม่ก็เอาคนมาศึกษา ตั้งโครงการเรียนรู้เข้าไป เอาแรงงาน พัฒนาฝีมือเข้ามาฝึก เอาเด็กอาชีวะที่จะจบ หรือปี 2 ปี 3 ผ่านพื้นฐานมาแล้ว ก็เอาไปฝึกงาน เป็นจำนวนชั่วโมง เป็นหน่วยกิตไป อีกพวกหนึ่งก็คือพัฒนาแรงงานฝีมือที่อยู่ในโรงงานอยู่แล้ว พวกนี้ก็ต้องอบรมนะ ภาษา แล้วก็ศัพท์เทคนิคอะไรต่างๆ พวกนี้ต้องพูดภาษาเขาได้ วันหน้าจะได้เป็นหัวหน้างานเขา

ในส่วนของการขับเคลื่อนเหล่านี้ รัฐบาลนี้ก็จะเร่งนัดในปี 2559 ในเรื่องของความร่วมมือลักษณะประชารัฐให้มากยิ่งขึ้น ทั้งระดับบน ระดับล่าง ท้องถิ่น โดยทั้งภาครัฐ และภาคธุรกิจเอกชน จะมีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ในลักษณะของคณะทำงานร่วมรัฐ-เอกชน-ประชาชน ที่เรียกว่าประชารัฐ อันนี้คนละอันกับในเรื่องของ กรอ.นะ อันนั้นคณะกรรมการร่วมรัฐ-เอกชน ซึ่งก็ทำงานในนโยบาย ขณะนี้ก็จะขับเคลื่อน จะมุ่งสู่เป้าหมายที่จะลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพคน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยการขับเคลื่อนผ่านยุทธศาสตร์ 4 เสาหลัก ได้แก่ การมีธรรมาภิบาล สำคัญที่สุดนะ การสร้างนวัตกรรมและผลิตภาพ ยกระดับคุณภาพทุนมนุษย์ และสุดท้ายคือ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมเพื่อความมั่งคั่งของประเทศ

สำหรับกลไกการทำงานหลัก จะเป็นคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐ ระดับรัฐมนตรี กับภาคธุรกิจ ซึ่งจะเป็นผู้นำทางธุรกิจของไทย โดยจะมีคณะทำงานขับเคลื่อนในเรื่องนี้ 7 ด้าน ได้แก่ ด้านการยกระดับนวัตกรรมและผลิตภาพ ด้านการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และวิสาหกิจเริ่มต้น ด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยว และไมซ์ ด้านการส่งเสริมการส่งออก และด้านการลงทุนในต่างประเทศ ด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ด้านการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ ด้านการสร้างรายได้และการกระตุ้นการใช้จ่ายของประเทศ นอกจากนั้น ยังมีคณะทำงานปัจจัยสนับสนุน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการดึงดูดการลงทุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ด้านการปรับแก้กฎหมายและกลไกภาครัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ

อันนี้เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องพยายามทำความเข้าใจ บางครั้งผมก็พูดเร็วไปบ้าง ท่านฟังไม่ทันบ้าง บางครั้งมันก็เยอะไง ก็เลยฟังไม่รู้เรื่อง พอท่านไม่รู้เรื่องท่านก็บอกว่าไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้นมาเลย ทุกอย่างมันสอดคล้องต่อเนื่องมาโดยตลอด เดี๋ยวผมจะให้เขาพยายามสรุปให้ท่านทราบว่า 2 ปีที่ผ่านมา ทำอะไรไปแล้วบ้าง อะไรที่ทำเสร็จแล้ว อะไรที่ยังไม่เสร็จ อะไรกำลังทำต่อ อะไรทำให้ส่งต่อ ก็จะร่างมาให้ท่านดูก่อนนะ เพื่อแม่น้ำ 5 สายจะได้เดินหน้าให้มันเป็นไปตามแนวทาง

เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือการประชุม COP21 ที่กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ที่มีผู้แทนจาก 195 ประเทศ ให้การยอมรับข้อตกลงใหม่อย่างเป็นเอกฉันท์ ที่จะร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จนทำให้สามารถจำกัดอุณหภูมิของโลกในศตวรรษนี้ ให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส คือถ้าเกิน 1.5 ไปแล้ว หรือ 2 องศาฯ ไปแล้ว มีปัญหามาก น้ำแข็งละลาย น้ำท่วม ฝนแล้ง ภัยพิบัติ เยอะแยะไปหมด เราต้องลดให้ได้ ด้วยกัน มันก็ต้องทำยังไงจะลดความเสี่ยง ทำยังไงจะลดผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนั้น นโยบายต่างๆ ของรัฐบาลนี้ก็ต้องสอดคล้องกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพัฒนา ในเรื่องของอุตสาหกรรม ในเรื่องของการส่งเสริมระบบการขนส่งมวลชน การเพิ่มพื้นที่ป่า การลดการเผาในภาคการเกษตร การจัดการขยะและน้ำเสีย โดยเฉพาะนโยบายสิ้นเปลืองพลังงาน

ส่วนเรื่องของการส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น ก็มีในเรื่องของการลงทุนภาคอุตสาหกรรม อย่าคิดแค่วิธีเดียวนะ ในการพัฒนา มันจะต้องมีทั้งสองอย่างคู่กัน มันอาจจะทำให้เกิดผลกระทบ แต่ทำยังไงมันจะเกิดความสมดุลกันระหว่างสิ่งที่ทำออกมา ถ้าทำให้มันเป็นสีเขียวซะ มันก็กระทบน้อย ประเทศที่พัฒนาแล้วนี่ เขาก็อาจจะมีการปล่อยก๊าซนี้มากอยู่ มากกว่าเรานะครับ เพราะเรากำลังพัฒนาอยู่

คราวนี้พอใช้กติกาตัวนี้ออกมา เราก็ค่อนข้างที่จะเสียเปรียบเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างความเข้าใจตรงนี้ ตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศ แต่ทั้งหมดนี้ รวมกันแล้ว ทุกประเทศ ถ้าเราทำได้ทุกประเทศ ตามที่เราเคยสมมุติว่าเราเคยทำไว้ 2 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี ก็ลดแค่ 1.5 มันมีวิธีการ วันนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย อีกหลายกระทรวงที่อธิบายไปแล้ว ต้องรีบประเมินให้ได้ว่า ปี 59 ลดได้เท่าไหร่ และต้องวางยาไปนู้นทุกปี ท้ายที่สุด 15 ปี ต่อไปสหัสวรรษ 15 ปี จะต้องลดก๊าซเรือนกระจกได้ 25-30% ของประเทศไทยนะครับ พยายามหน่อย ช่วยกัน

ท่านดูซิว่า มีอะไรบ้างที่ต้องลดได้ ไม่เผาไร่ แต่พี่น้องเดือดร้อน ที่เผาเพราะถ้าค่าไถมันแพง ถ้ามันไม่เผาไว้ก่อน รถไถคิดราคาแพงกว่าปกติ นี่เป็นปัญหาที่มันไม่ มันน่าจะแก้ไม่ยาก แก้ไม่ง่าย เพราะอยู่ที่ความเข้าใจ และความร่วมมือของเจ้าของเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ต้องช่วยประเทศ อย่าเอารายได้ที่สูงขึ้น ใช้โอกาสวันนี้ไปเรียกค่าชาวนาเพิ่ม หรือข่มขู่ ชาวนาว่า ถ้าไม่ปลูกข้าวตอนนี้ จะให้คนอื่นทำ มันปลูกไปก็เสียหาย แต่ท่านไม่เดือดร้อน เพราะท่านเรียกค่าเช่านาไปแล้ว นั่นปัญหา และชาวนาจะพอกพูนหนี้ไปเรื่อย มันจะแก้ได้ไหมล่ะ ต่อให้แก้การลดต้นทุน ลดการบริหารจัดการ ลดเมล็ดพันธุ์พืช ลดปุ๋ย ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ลดเรื่องการขนส่งไปโรงสี แต่คุณภาพข้าวไม่ได้ เพราะมันไม่พร้อม สุกไม่พร้อมกัน แต่เกี่ยวพร้อมกัน เพราะรถไถมาพร้อมกัน เพราะอีกสัปดาห์หน้า หรือเดือนถัดไป มันต้องไปที่อื่น ตรงนี้ ต้องรีบเกี่ยว เกี่ยวเสร็จก็ขนไม่ได้อีก ขนไม่ได้เสร็จแล้วก็ถูกตัดราคาลง เพราะข้าวไม่มีคุณภาพ

ทุกคนคงเข้าใจนะครับ ผมคิดให้ละเอียดเลย และจะไปแก้ตรงไหน ผมย้ำกระทรวงไปแล้ว เราต้องเลือกใช้เทคโนโลยีที่สะอาด ประสิทธิภาพสูง และเป็นมิตรสิ่งแวดล้อมให้ได้ นำมาประกอบการพิจารณาด้วย จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย ผมบอกแล้วว่า สำคัญ ควบคู่กับไปกับพัฒนาประเทศ ถ้าเรารักษาตรงนี้มากๆ ลดมากๆ เข้า ทั้งประเทศไปไม่ได้ โรงงานเกิดไม่ได้ จะทำยังไง มันต้องสร้างสมดุลให้ได้ สร้างพอใจ ประเทศพัฒนาแล้ว ต้องช่วยเราสนับสนุนเรื่องเทคโนโลยี เรื่องเงินทุน อะไรก็แล้วแต่ มันต้องไปด้วยกัน

วันนี้ นานาชาติก็ ผมพูดไปแล้วนะในที่ประชุม COP21 ผมบอกว่า ให้ดูแลประเทศที่กำลังพัฒนาด้วย เพราะพวกเราเพิ่งสตาร์ทอัพกัน ไม่เหมือนประเทศท่านที่เจริญไปแล้ว อุตสาหกรรมเข้มแข็งไปแล้ว บางอย่างเราเริ่มไม่ทัน เริ่มไม่ได้ เพราะ Stop ทั้งหมดไปทั้งหมด เพราะเราไม่มีรายได้เข้าประเทศ การพัฒนาไม่เกิดขึ้นเป็นภาระของเขาอีกต่อไปนั่นแหละ ไม่อยากเป็นภาระของใคร เพราะฉะนั้นขณะนี้กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม และหลายๆ หน่วยที่เกี่ยวข้องกับนโยบายเรื่องลดโลกร้อน รับคำสั่งไปแล้วต้องเร่งดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม วางแผนล่วงหน้า ทุกอย่างมันช้าเพราะอะไร เพราะยังติดเขาเรียกว่าอะไร ติดความคิดของตัวเอง ไม่คิดนอกกรอบออกมาบ้าง ถ้าคิดนอกกรอบออกมา แล้วพยายามดึงเข้ากลับกรอบ และตีกรอบใหม่ กฎหมายใหม่ ทำกฎหมายให้มันชัดเจนขึ้น สร้างความเข้าใจประชาชนมากขึ้น มันทำได้ทุกอย่างแหละครับ เพราะเราเป็นคนกำหนด ด้วยความร่วมมือระหว่างกัน ไม่ประท้วงกัน ไม่ขัดแย้งกัน มันจะทำให้สำเร็จได้ การปฏิรูปเหมือนกัน แต่ถ้ามันขัดแย้งอยู่แบบนี้ ทุกคนเอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่ และเอาความขัดแย้งมาเริ่มต้นก่อน ไม่มีทางทำได้ซักอย่าง อันไหนทำได้ทำก่อน อันไหนติดเอาไว้ก่อน หรือทำระยะ 1 2 3 ก็ได้ ทุกเรื่องเลยผมคิดอย่างนั้น แต่ไม่รู้เป็นเรื่องของท่านที่จะไปทำมา ในเรื่องของแม่น้ำ 5 สาย ไปทำมาให้ ไม่อย่างนั้นเขาเรียกว่าอะไรเสียของ เสียเวลา ต้องลดช่องว่างระหว่างกันให้ได้ และต้องช่วยกันพัฒนาประเทศให้ไปด้วยกัน Stronger Together

สัปดาห์หน้ามีวันสำคัญทางคริสต์ศาสนา เป็นวันคริสต์สมภพ ที่เรียกว่าวันคริสต์มาส คนไทยทุกวันมีความสุขทุกวัน ไม่ว่าจะของไทยของต่างประเทศ มีความสุขหมด คนไทยเป็นชาติที่รักสงบ สันติ มีความสุข เราจะเปลี่ยนแปลงคนไทยไปเป็นอีกอย่างไหม สู้รบปรบมือกันไปเรื่อยๆ ขัดแย้งกันไปเรื่อยๆ ผมว่ามันไม่ใช่ๆ พี่น้องประชาชนช่วยตัดสินด้วยแล้วกัน จะเอายังไงก็ว่ามา ในนามของรัฐบาลไทย ผมขออวยพรให้คริสตศาสนิกชนทุกคนในประเทศไทย รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหลาย ให้มีแต่ความสุขสมหวัง และมีสุขภาพที่ดี ขอให้มีการเฉลิมฉลองวันคริสต์มาสนี้อย่างมีสติ สนุกสนาน และปลอดภัยมีความสุขนะครับ ขอบคุณครับ สวัสดีครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น