นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือนกันยายนที่ผ่านมามีมูลค่า 18,816 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 5.51 เป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ส่งผลให้การส่งออกสินค้าไทยช่วง 9 เดือน มีมูลค่า 161,563 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบร้อยละ 4.98 ส่วนการนำเข้าเดือนกันยายน มีมูลค่า 16,022. ล้านเหรียญสหรัฐ ติดลบร้อยละ 26.20 ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างประเทศ 9 เดือนเกินดุล 7,758 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับปัจจัยที่มีผลกระทบต่อส่งออกของไทยหดตัว เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว และคู่ค้าหลักชะลอคำสั่งซื้อ โดยเฉพาะสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ส่งผลให้การนำเข้าเกือบทุกประเทศทั่วโลกยังคงหดตัว ประกอบกับราคาน้ำมันที่ลดต่ำลง และคาดว่าราคาน้ำดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 50 เหรียญต่อบาร์เรล และราคาสินค้าเกษตรมีมูลค่าการส่งออกต่ำกว่าราคาในตลาดโลก ซึ่งภาพรวมมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรเดือนกันยายน หดตัวร้อยละ 9.9 จากสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญ ได้แก่ ยางพารา ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป สำหรับประมาณการเศรษฐกิจโลกปีนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ประเมินเศรษฐกิจโลกจะเติบโตร้อยละ 3.1
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าหมายการส่งออกปีนี้ไว้ที่ติดลบร้อยละ 3 โดยประเมินว่าช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ หากสามารถผลักดันการส่งออกได้ 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน จะทำให้อัตราการขยายตัวของการส่งออกไทยปีนี้ ติดลบที่ร้อยละ 3.5 - 4 และคาดหวังว่า การส่งออกจะกลับมาเป็นบวกได้ช่วงต้นปีหน้า จากแนวโน้มราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าหมายการส่งออกปีนี้ไว้ที่ติดลบร้อยละ 3 โดยประเมินว่าช่วง 3 เดือนที่เหลือของปีนี้ หากสามารถผลักดันการส่งออกได้ 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน จะทำให้อัตราการขยายตัวของการส่งออกไทยปีนี้ ติดลบที่ร้อยละ 3.5 - 4 และคาดหวังว่า การส่งออกจะกลับมาเป็นบวกได้ช่วงต้นปีหน้า จากแนวโน้มราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น