xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลออกพ.ร.ก.ด้านการบิน 3 ฉบับ แก้ปัญหาไอเคโอให้ธงแดง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชกำหนดขึ้น 3 ฉบับ ได้แก่ 1. พระราชกําหนดการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 2. พระราชกําหนด แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 พ.ศ. 2558 และ 3. พระราชกําหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545
พ.ศ. 2558

โดยเหตุผลของการออกพระราชกำหนดการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 ระบุว่า จากการที่ประเทศไทยได้รับการตรวจสอบติดตาม การดําเนินการภายใต้โครงการตรวจสอบการกํากับดูแลด้านความปลอดภัยสากล (Universal Safety Oversight Audit Program ; USOAP) ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) โดยองค์การการบินพลเรือน ระหว่างประเทศได้เปลี่ยนวิธีการตรวจสอบจากเดิมในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ที่ใช้วิธีการตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรฐาน และข้อพึงปฏิบัติระหว่างประเทศ (SARPs) เฉพาะในภาคผนวกที่ 1 ภาคผนวกที่ 6 และภาคผนวกที่ 8
แห่งอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ และในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ที่ใช้วิธีการตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรฐานและข้อพึงปฏิบัติระหว่างประเทศในทุกภาคผนวกที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย(AllSafety-relatedannex) มาเป็นวิธีการตรวจสอบแบบเฝ้าตรวจตราอย่างต่อเนื่อง (Continuous Monitoring Approach ; CMA) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา

ซึ่งการตรวจสอบดังกล่าว ปรากฏผลของการขาดประสิทธิผลในการดําเนินการ (Lack of Effective Implementation ; LEI) ที่เกี่ยวข้องกับการกํากับดูแลความปลอดภัยการบินพลเรือนที่สําคัญ รวม 8 ด้าน ซึ่งมีผลทําให้องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศได้ประกาศการพบข้อบกพร่องที่มีนัยสําคัญต่อความปลอดภัย (SSC) ของประเทศไทย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ได้ประกาศในวันที่ 18 มิถุนายน 2558 ไม่เห็นชอบกับแผนแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวที่ประเทศไทยได้จัดทำเสนอ

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นกรณีที่มีความจําเป็นรีบด่วนเพื่อมิให้ผลของการประกาศพบข้อบกพร่องที่มีนัยสําคัญต่อความปลอดภัยข้างต้นส่งผลต่อการถูกปรับลดระดับมาตรฐานการบินพลเรือนของประเทศไทยจากองค์การบริหารการบินอื่นรวมถึงการพิจารณาสิทธิการบินและการทําการบินของไทยอันจะส่งผลเสียหายอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมการบินผลกระทบต่อประโยชน์และความปลอดภัยสาธารณะ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศและต้องปรับปรุงรูปแบบ โครงสร้าง และอํานาจหน้าที่ของหน่วยงานด้านการบินพลเรือนของประเทศไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมทั้งให้เป็นไปตามข้อกําหนดและข้อเสนอแนะขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ จึงจําเป็นต้องตราพระราชกําหนดนี้

ส่วนการออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการเดินอากาศพ.ศ.2557พ.ศ.2558 นั้นได้ให้เหตุผลโดยระบุว่า โดยที่ได้มีการจัดตั้งสํานักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการปรับปรุงโครงสร้าง และรูปแบบของหน่วยงานด้านการบินพลเรือน ตามข้อเสนอแนะขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ และมีการยุบเลิกกรมการบินพลเรือน โดยเปลี่ยนเป็นกรมท่าอากาศยานดังนั้น เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินและการปฏิบัติราชการตามโครงสร้างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจึงจําเป็นต้องตราพระราชกําหนดนี้

ขณะที่ การออกพระราชกําหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 พ.ศ. 2558 ได้ให้เหตุผลของการออกโดยระบุว่า โดยที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศได้ตรวจสอบพบข้อบกพร่องในด้านโครงสร้างและอํานาจหน้าที่ของกรมการบินพลเรือนโดยเฉพาะการแบ่งแยกอํานาจหน้าที่ระหว่างหน่วยงานที่ทําหน้าที่กํากับดูแลและหน่วยงานผู้ให้บริการดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล จึงต้องปรับปรุงโครงสร้างของส่วนราชการในกรมการบินพลเรือนเสียใหม่ โดยแยกงานการกํากับดูแลออกเป็นสํานักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยและงานเกี่ยวกับการค้นหาและช่วยเหลือกรณีอากาศยานประสบภัยงานนิรภัยการบินและสอบสวนหาสาเหตุของอุบัติเหตุอากาศยานให้อยู่ในอํานาจหน้าที่ของสํานักงานปลัดกระทรวง กระทรวงคมนาคม รวมทั้งเปลี่ยนชื่อกรมการบินพลเรือนเป็นกรมท่าอากาศยาน เพื่อให้สอดคล้องกับงานในหน้าที่หลักที่ปรับปรุงใหม่นี้ด้วย จึงจําเป็นต้องตราพระราชกําหนดนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น