xs
xsm
sm
md
lg

อนุมัติ บพ.เข้าร่วมโครงการความปลอดภัยระหว่างไทย กับ ICAO

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
ครม.อนุมัติ กรมการบินพลเรือนเข้าร่วมโครงการความร่วมมือด้านการรักษาความปลอดภัยการบิน ระหว่างไทย กับ ICAO พร้อมไฟเขียว 5 ร่างกฎกระทรวงออกตาม พ.ร.บ.การเดินอากาศ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน่วยซ่อมอากาศยาน

วันนี้ (18 ส.ค.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.ได้อนุมัติให้กรมการบินพลเรือนเข้าร่วมโครงการความร่วมมือด้านการรักษาความปลอดภัยการบินระหว่างประเทศไทย กับองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO และให้อธิบดีกรมการบินพลเรือน เป็นประธานลงนามฝ่ายไทยเข้าร่วมซึ่งแม้ว่าโครงการดังกล่าวจะเริ่มไปแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 ซึ่งฝ่ายไทยยังเห็นถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการบิน จึงได้อนุมัติการเข้าร่วมการอบรมดังกล่ว ซึ่งจะจัดไปจนถึง 30 มิ.ย. 2562 นอกจากนี้ ไทยยังมีการเตรียมความพร้อมให้ ICAO เข้ามาตรวจสอบไทยในปี 2560 อีกด้วย

ทั้งนี้ การเข้าร่วมโครงการความร่วมมือด้านการรักษาความปลอดภัยการบิน Cooperative Aviation Security Programme, Asia/Pacific Region (CASP-AP) Phase III ระหว่างประเทศไทยกับองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization - ICAO) มีสาระสำคัญดังนี้

1. โครงการ CASP-AP Phase III เป็นโครงการความร่วมมือด้านการรักษาความปลอดภัยการบินที่จัดขึ้นสำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกในการดำเนินการด้านการรักษาความปลอดภัยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมทั้งเป็นการเสริมสร้างศักยภาพด้านการรักษาความปลอดภัยการบินของประเทศสมาชิกให้มีความทัดเทียมกัน และเป็นโครงการความร่วมมือต่อเนื่องจาก Phase I และ Phase II เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปตามมาตรฐานระดับสากลและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตลอดจนเป็นการส่งเสริมให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในเรื่องของการรักษาความปลอดภัยด้านการบินในภูมิภาค โดยในแต่ละ Phase มีระยะเวลา 5 ปี

2. โครงการ CASP-AP เป็นความร่วมมือและการช่วยเหลือรูปแบบต่าง ๆ ของประเทศสมาชิก ซึ่งจะมีแผนการดำเนินงานประจำปี (Annual Work plan) กำหนดกิจกรรมและข้อมูลหลักสูตรการฝึกอบรมของแต่ละปีโดยเป็นไปตาม ICAO Aviation Security Training Package (ASTP)

3. การเข้าร่วมโครงการฯ จะทำให้กรมการบินพลเรือนได้รับประโยชน์ ดังนี้

1) โครงร่างของการเขียนโปรแกรมที่เกี่ยวข้องต่างๆ ได้แก่ โปรแกรมการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนแห่งชาติ (National Civil Aviation Security Program : NCASP) โปรแกรมฝึกอบรมการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนระดับชาติ (National Civil Aviation Security Training Program : NCASTP) และโปรแกรมควบคุมคุณภาพการรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือนระดับชาติ (National Civil Aviation Quality Program : NCAQCP) ตลอดจน Model กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น Aviation Security Act และ Aviation Security Regulations

2) การได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญจาก ICAO ตลอดจนประเทศสมาชิกที่มีความพร้อมมากกว่า

3) เจ้าหน้าที่กรมการบินพลเรือนได้เข้าร่วมฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ ภายใต้โครงการ CASP-AP Phase III

4) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆ จากประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ

4. กรมการบินพลเรือนพิจารณาแล้วเห็นว่า ประเทศไทยควรเข้าร่วมโครงการ CASP-AP Phase III เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถการทำงานให้กับบุคลากรของกรมการบินพลเรือน ตลอดจนความก้าวหน้าด้านการรักษาความปลอดภัยด้านการบินพลเรือนให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ

มีรายงานว่า คณะรัฐมนตรียังเห็นชอบร่างกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2551 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน่วยซ่อมอากาศยาน จำนวน 5 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้ และมอบให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการด้วย โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1. ร่างกฎกระทรวงใบรับรองหน่วยซ่อม พ.ศ. ....

1.1 กำหนดให้ผู้ขอรับใบรับรองหน่วยซ่อมเพื่อประกอบกิจการหน่วยซ่อมในราชอาณาจักร ให้ยื่นคำขอต่ออธิบดีตามแบบที่อธิบดีกำหนด พร้อมด้วยหลักฐานและเอกสารตามที่กำหนด และให้ผู้ยื่นคำขอรับใบรับรองหน่วยซ่อมต้องระบุขีดความสามารถในการบำรุงรักษาตามประเภทของใบรับรองหน่วยซ่อมตามที่กำหนดด้วย

1.2 กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการพิจารณาใบรับรองหน่วยซ่อมของอธิบดี

1.3 กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้ผู้ได้รับใบรับรองหน่วยซ่อมดำเนินการขอใบรับรองหน่วยซ่อมฉบับใหม่ตามที่กำหนด

1.4 กำหนดให้ผู้ได้รับใบรับรองหน่วยซ่อมต้องแสดงใบรับรองหน่วยซ่อมไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย และให้ใบรับรองหน่วยซ่อมมีอายุสามปีนับแต่วันที่ออกใบรับรอง

1.5 กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการขอต่ออายุใบรับรองหน่วยซ่อม และการขอรับใบแทนใบรับรองหน่วยซ่อม รวมทั้งบทเฉพาะกาลในเรื่องที่เกี่ยวข้อง

2. ร่างกฎกระทรวงผู้ดำเนินการหน่วยซ่อม พ.ศ. .... กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ดำเนินการหน่วยซ่อม เช่น มีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปีบริบูรณ์ มีประสบการณ์เกี่ยวกับการดำเนินงานไม่น้อยกว่า 2 ปี และไม่เป็นผู้มีพฤติการณ์อันเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ เป็นต้น

3. ร่างกฎกระทรวงการผลิตชิ้นส่วนของอากาศยาน พ.ศ. ....

3.1 กำหนดประเภทของใบรับรองหน่วยซ่อมในการผลิตชิ้นส่วนของอากาศยาน และกำหนดข้อจำกัดของการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน
3.2 กำหนดให้ผู้ได้รับใบรับรองหน่วยซ่อมซึ่งประสงค์จะผลิตชิ้นส่วนของอากาศยาน ให้ยื่นคำขอต่ออธิบดีตามแบบที่อธิบดีกำหนด พร้อมด้วยหลักฐานและเอกสารตามที่กำหนด และให้ผู้ได้รับใบรับรองหน่วยซ่อมซึ่งประสงค์จะผลิตชิ้นส่วนของอากาศยานต้องจัดให้มีผู้รับผิดชอบในการควบคุมดูแลการผลิตชิ้นส่วน ของอากาศยานอย่างน้อยหนึ่งคน โดยต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนด

3.3 กำหนดให้ผู้ได้รับใบรับรองหน่วยซ่อมซึ่งประสงค์จะผลิตชิ้นส่วนของอากาศยานต้องจัดสถานที่ อาคาร สิ่งอำนวยความสะดวก สภาพแวดล้อมในการทำงาน และเครื่องมือ ให้มีความเหมาะสมและปลอดภัยและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด

3.4 กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการพิจารณาคำขออนุญาตของอธิบดี

4. ร่างกฎกระทรวงใบอนุญาตประกอบกิจการบำรุงรักษาเฉพาะอากาศยานต่างประเทศ ในราชอาณาจักร พ.ศ. ....

4.1 กำหนดให้ผู้ขอใบอนุญาตประกอบกิจการบำรุงรักษาเฉพาะอากาศยานต่างประเทศ ในราชอาณาจักร ให้ยื่นคำขอต่ออธิบดีตามแบบที่อธิบดีกำหนด พร้อมด้วยหลักฐานและเอกสารตามที่กำหนด และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการพิจารณาคำขอใบอนุญาตของอธิบดี และการพิจารณาขีดความสามารถในการบำรุงรักษาอากาศยานของอธิบดี

4.2 กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตจะต้องดำเนินการบำรุงรักษาตามขีดความสามารถในการบำรุงรักษา และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้ผู้ได้รับใบอนุญาตดำเนินการขอใบอนุญาตฉบับใหม่ตามที่กำหนด

4.3 กำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องแสดงใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย และกำหนดให้อธิบดีมีอำนาจพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาตตามที่กำหนด

5. ร่างกฎกระทรวงใบรับรองหน่วยซ่อมต่างประเทศ พ.ศ. ....

5.1 กำหนดให้ผู้ขอรับใบรับรองหน่วยซ่อมต่างประเทศให้ยื่นคำขอต่ออธิบดีตามแบบที่อธิบดีกำหนด พร้อมด้วยหลักฐานและเอกสารตามที่กำหนด และให้ผู้ขอรับใบรับรองหน่วยซ่อมต่างประเทศต้องระบุขีดความสามารถในการบำรุงรักษาอากาศยานในคำขอด้วย

5.2 กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการพิจารณาใบรับรองหน่วยซ่อมต่างประเทศของอธิบดี และให้อธิบดีอาจพิจารณาจำกัดขีดความสามารถในการบำรุงรักษาของหน่วยซ่อมต่างประเทศ

5.3 กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้ผู้ได้รับใบรับรองหน่วยซ่อมต่างประเทศ ดำเนินการ ขอใบรับรองหน่วยซ่อมต่างประเทศฉบับใหม่ตามที่กำหนด

5.4 กำหนดให้ผู้รับใบรับรองหน่วยซ่อมต่างประเทศต้องแสดงใบรับรองหน่วยซ่อมต่างประเทศไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย และให้ใบรับรองหน่วยซ่อมต่างประเทศมีอายุสามปีนับแต่วันที่ออกใบรับรอง

5.5 กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการขอต่ออายุใบรับรองหน่วยซ่อมต่างประเทศ และการขอรับใบแทนใบรับรองหน่วยซ่อมต่างประเทศ

5.6 กำหนดให้อธิบดีมีอำนาจพักใช้ใบรับรองหน่วยซ่อมต่างประเทศหรือเพิกถอนใบรับรองหน่วยซ่อมต่างประเทศตามที่กำหนด รวมทั้งบทเฉพาะกาลในเรื่องที่เกี่ยวข้อง


กำลังโหลดความคิดเห็น