ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายกฯ สั่งกระทรวงศึกษาฯ ทำแอปฯ สอนภาษาอังกฤษแก่ประชาชน สั่งลงพื้นที่แจงป้องกันภัยหนาวแทนแจกผ้าห่ม สร้างโรงงานก๊าซพลังงานธรรมชาติ นำร่องที่กงไกรลาศ สุโขทัย หาทางลงทุนอิหร่านหลังเปิดประเทศ เห็นชอบให้งบ 271 ล้าน กองทัพอากาศ จับมือ สนง.การบินพลเรือน ดูแลพัฒนาการบินตามข้อกำหนดไอเคโอ หนุนปล่อยสินเชื่อผู้ประกอบการยาง แจงผลรับซื้อยางยังมีน้อย เพราะฝนตก - ดูลาดเลา
วันนี้ (26 ม.ค.) ที่ตึกนารีสโมสร พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในส่วนข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า ในที่ประชุมมีการฉายวิดีทัศน์ของกระทรวงศึกษาธิการ เปิดตัวโครงการ “I speak english เพื่อชีวิตที่ Better” ซึ่งเป็นโครงการตามนโยบายประชารัฐ ที่เป็นการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน เชิญชวนให้ประชาชนหันมาสนใจการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ โดยจะมีดารา นักแสดง นักกีฬา นักธุรกิจ และบุคคคลที่มีชื่อเสียงในสังคมมากมาย ร่วมถ่ายทำวิดีทัศน์ดังกล่าว ทั้งนี้ วัตถุประสงค์หลัก คือ การสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ที่จะพัฒนาทักษะตัวเองในการใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน อีกทั้งเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตในการเรียนรู้ การท่องเที่ยว ธุรกิจ และสร้างแรงจูงใจที่จะต่อยอดต่อไป
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ สั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้ดำเนินการจัดทำเป็นรูปแบบแอปพลิเคชันโดยเร่งด่วน เพื่อให้มีระบบที่เข้าใจง่าย มีการทดสอบการฝึกพูดด้วยตัวเอง เพื่อสร้างความมั่นใจและใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างถูกต้อง โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายเร่งด่วน คือ กลุ่มประชาชนทั่วไป ข้าราชการที่ต้องมีการติดต่อสื่อสนทนากับนักท่องเที่ยว รวมไปถึงนักเรียน นักศึกษา ที่ต้องการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ ตลอดจนกลุ่มประชาชนผู้ใช้แรงงาน ที่จะสามารถปรับตัวเองให้เป็นหัวหน้างานได้ ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ยังมีการจัดฝึกอบรมครูระบบเร่งรัด ระยะเวลา 6 สัปดาห์ จัดศูนย์ทดสอบทักษะภาษาอังกฤษ และปรับหลักสูตรภาษาอังกฤษทั่วประเทศ โดยเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเข้มแข็งทางด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพบุคคล หรือเยาวชนที่ด้อยโอกาส เด็กกำพร้า หรือคนพิการ ให้สามารถเติบโตขึ้นมาเป็นบุคลากรทีมีคุณค่าของประเทศ โดยสั่งการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำเนินการวางแผนอย่างครบระบบเพื่อดำเนินการดูแลบุคคลเหล่านี้ได้
พ.อ.อธิสิทธิ์ กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ ได้แสดงความห่วงใยในสถานการณ์สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงเป็นอากาศหนาว โดยการดูแลประชาชน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลอย่างเป็นระบบและยั่งยืน โดยที่ผ่านมาเมื่อมีอากาศหนาวจะมีการแจกผ้าห่มกัน นายกฯ ระบุว่า เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า จึงอยากให้หน่วยงานเกี่ยวข้องลงพื้นที่ให้ความรู้ชาวบ้านในการดูแลตนเอง ทั้งในช่วงอากาศหนาว และอากาศร้อน โดยให้การช่วยเหลือสร้างให้ชุมชนมีความเข้มแข็งมั่นคง
ด้าน พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุม ครม. ว่า ในที่ประชุม ครม. เห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานนำเสนอโครงการก๊าซพลังงานธรรมชาติเพื่อเกษตรชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยมีการสร้างโรงงาน เพื่อใช้ก๊าซหมุนเวียน นำพลังงานที่ถูกปล่อยออกมาอย่างไม่มีประโยชน์ นำกลับมาใช้ใหม่ โดยจะส่งเสริมให้เกษตรกรที่อยู่ในชุมชน อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย ใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่นำร่องที่แรก ก่อนจะมีโครงการแบบนี้เกิดขึ้นในทุกจังหวัด ตามนโยบายประชารัฐ ที่ต้องการการขยายความร่วมมือประชาชนในระดับจังหวัด เพื่อขยายความร่วมมือไปถึงระดับภูมิภาคต่อไป
พ.อ.หญิง ทักษดา กล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 23 - 24 ม.ค. ที่ผ่านมา นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ได้เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน อย่างเป็นทางการนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้มีข้อสั่งการว่า ให้ประเทศไทยได้ใช้ประโยชน์จากการเปิดประเทศของอิหร่านให้ได้มากที่สุด เนื่องจากประเทศอิหร่านเพิ่งได้รับการปลดล็อกจากการแซงชัน และไทยก็เป็นประเทศแรก ๆ ที่เข้าไปเจรจา จึงขอให้มีความร่วมมือกันในเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งในปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวอิหร่านเข้ามาในประเทศไทยปีละ 1.4 แสนราย รวมถึงภาคอุตสาหกรรมที่อิหร่านพร้อมจะร่วมมือการผลิตกับไทย อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ เหมืองแร่ เสื้อผ้า และอาหารฮาลาล นอกจากนี้ ไทยยังมีความต้องการจะร่วมพัฒนาในด้านกิจการโรงแรม และกิจการการบินที่อิหร่าน สนใจจะให้ไทยเราเข้าไปลงทุน โดย พล.อ.ประยุทธ์ สั่งการให้มีการจัดทำการเจรจาก่อน ซึ่งเมื่อถึงขั้นตอนปฏิบัติจะทำให้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงได้รวดเร็วขึ้น
ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม. ว่า ในที่ประชุม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เห็นชอบให้ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน (ศบปพ.) เสนอ ครม. เพื่อพิจารณาสนับสนุนงบประมาณดำเนินการพัฒนาคุณภาพและคุณสมบัติของผู้ตรวจสอบความปลอดภัยการบิน ในกรอบวงเงินทั้งสิ้น 271 ล้านบาทเศษ ซึ่ง ศบปพ. ได้สั่งการให้กองทัพอากาศ ร่วมกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) จัดทำแผนแก้ไขปัญหา กำกับดูแลและพัฒนาการบินพลเรือนของประเทศไทย โดยแบ่งแผนออกเป็นระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
ส่วนที่เร่งด่วนคือ ระยะสั้น จะต้องดำเนินการสองงานควบคู่กันไป คือ 1. ต้องพัฒนาคุณสมบัติผู้ตรวจสอบความปลอดภัยการบินระยะที่ 1 มี 17 คน และผู้ตรวจสอบความปลอดภัยด้านอื่น ๆ 52 คน ซึ่งจะมีการจัดให้มีการอบรมในเรื่องต่าง ๆ ที่จะใช้เป็นมาตรฐานในการตรวจสอบผู้ที่ทำการบิน ใช้วงเงินทั้งสิ้น 86 ล้านบาทเศษ และ 2. ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ มาร่วมดำเนินการตรวจสอบให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะ เพื่อตรวจสอบการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ ตามข้อกำหนดขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) ซึ่ง ครม. ได้เห็นชอบใน 2 โครงการนี้ โดยมีวงเงินรวมทั้งสิ้น 271 ล้านบาทเศษ ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้สั่งการในเรื่องนี้ว่า การที่จะจ้างที่ปรึกษามา ไม่ได้หมายความว่าเราจะจ้างตามคนที่เราเห็นว่าควรจะจ้าง แต่จะต้องจ้างที่ปรึกษาจากคนที่ไอเคโอเกิดความไว้วางใจ เพราะฉะนั้นเมื่อไอเคโอไว้วางใจคนไหน ก็จ้างเขามาเป็นที่ปรึกษาถือว่าตอบโจทย์ได้ตรง เพราะฉะนั้นหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้จะต้องดูในรายละเอียด ข้อกำหนด กติกาที่ไอเคโอได้กำหนดไว้ด้วย
พล.ต.สรรเสริญ แถลงว่า ครม. เห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบผลิตภัณฑ์ยาง ในวงเงิน 15,000 ล้านบาท เป็นห้วงระยะเวลาใหม่ ตั้งแต่ปี 2559 - 2569 รวม 10 ปี ซึ่งจากเดิมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคยมีมติเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 เป็นโครงการในลักษณะเดียวกัน มีผู้ปล่อยสินเชื่อคือธนาคารออมสิน อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงอุตสาหกรรม การดำเนินการอยู่ในห้วงเวลา ปี 2557 - 2567 ซึ่งพบปัญหา ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้คือ ผู้ประกอบการในผลิตภัณฑ์ยางมีคุณสมบัติไม่ผ่านเงื่อนไขของธนาคารออมสินที่กำหนดไว้ เพราะฉะนั้นแนวทางการแก้ไข ก็คือ คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ได้หารือกับ กระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จนได้ข้อสรุปว่า โครงการนี้ควรจะดำเนินต่อไป แต่ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์ใหม่ ให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ ที่พอไปได้ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย
“การดำเนินการโครงการนี้ ก็หมายความว่า วงเงินสินเชื่อเท่าเดิม คือ 15,000 ล้านบาท ส่วนผู้ปล่อยสินเชื่อจากเดิมที่เป็นธนาคารออมสินเพียงหน่วยเดียว แต่วันนี้มีผู้เข้ามาร่วมเพิ่มรวมเป็น 7 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทหารไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และ ธนาคารซีไอเอ็มบี” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
พล.ต.สรรสเริญ กล่าวว่า ขณะที่ผู้ประกอบการที่จะทำโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ยาง จะต้องเป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในขั้นปลายน้ำ คือ ผลผลิต หรือผลิตภัณฑ์ ที่ออกจากบริษัท หรือโรงงาน จะต้องเป็นวัสดุที่ใช้ได้เลย เช่น ถุงมือยาง ยางยืด ยางล้อ และยางที่นำไปใช้ในด้านวิศวกรรม รวมถึงต้องใช้เพื่อการขยายกำลังการผลิต หรือปรับปรุงเครื่องจักร อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีข้อแนะนำ ให้เพิ่มเติมความชัดเจนในประเด็นการขยายกำลังการผลิต ไม่ได้หมายความว่า กู้เงินไปซื้อ หรือปรับปรุงเครื่องจักรเพียงอย่างเดียว ต้องหมายรวมถึงการสร้างโรงงานใหม่ หรือขยายเพิ่มเติม และจัดหาที่ดินเพิ่มเติม ให้เกิดความคลอบคลุม
สำหรับคุณสมบัติของผู้กู้สินเชื่อ จะต้องสามารถนำยางที่เป็นปัจจัยการผลิต มาเพิ่มปริมาณการใช้ยางได้ 4 ตัน ต่อ 1 ปี ต่อวงเงินกู้ 1 ล้านบาท หากใครต้องการจะกู้เป็น 2 ล้านบาท ก็ต้องนำยางเข้ามาผลิตเพิ่มให้ได้ปีละ 8 ตัน ทั้งนี้ มีเงื่อนไขคือ ในปีแรกที่เพิ่งเริ่มกู้เงิน จะอนุญาตปล่อยสินเชื่อให้แค่ครึ่งเดียว คือ 2 ตัน จากนั้นจึงเข้าหลักเกณฑ์ปกติ โดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้ ร้อยละ 3 ต่อปี ตลอดห้วงเวลาการดำเนินการ ส่วนอัตราดอกเบี้ย และหลักประกันสินเชื่อ ทางธนาคารจะเป็นผู้กำหนด ซึ่งกำหนดระยะเวลาในการสมัครขอสินเชื่อ 1 ปี นับตั้งแต่ ครม. อนุมัติวันนี้ และมีการมอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้ควบคุมจำนวนสินเชื่อ และคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จะควบคุมการใช้ยางของแต่ละโรงงานที่กู้สินเชื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์
“รัฐบาลคาดการณ์คำนวณดูแล้วว่า ท่านผู้มาใช้บริการทั้งหมด รัฐจะต้องชดเชยดอกเบี้ยประมาณ 450 ล้านบาท ต่อปี เมื่อครบ 10 ปี จะต้องชดเชย 4,500 ล้านบาท จะสามารถทำให้มีปริมาณการใช้ยางเพิ่มขึ้นได้ถึง 60,000 ตัน ทั้งหมดนี้ถ้าทำไปแล้ว จะทำให้อุตสาหกรรมการผลิตยางในประเทศขยายตัวขึ้น เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในประเทศ และมีการต่อยอดนวัตกรรมเพิ่มขึ้น เป็นไปตามนโยบายรัฐบาล ที่พยายามช่วยเหลือผู้ประกอบการยาง แต่ไม่ได้หมายความว่า จะส่งเสริมให้คนปลูกยางมากขึ้น เพราะยางล้นตลาด ต้องลดการปลูกในอนาคต” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
โฆษกประจำสำนักนายกฯ ยังกล่าวอีกว่า พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้รายงานจำนวนการรับซื้อยางช่วง 1 - 2 วันที่ผ่านมา ต่อนายกรัฐมนตรีทั้งสิ้น 70.6 ตัน แบ่งเป็นยางดิบ 47.3 ตัน น้ำยาง 4.2 ตัน และยางก้นถ้วย 19.3 ตัน ถือว่าน้อยมาก สาเหตุเพราะฝนตก เกษตรกรอาจนำมาขายน้อย ด้านพ่อค้าคนกลาง พอเห็นว่ามีการรับซื้อในราคาสูง ก็ขยับราคาขึ้นมาใกล้เคียงกับรัฐบาล ต่างกันเพียง 1 - 2 บาท
“สาเหตุที่รับซื้อยางงวดแรกได้น้อย คือ เกษตรกรเขามีความรู้สึกว่า 1. ถ้าจะมาขายรัฐต้องแยกให้ชัดเจน ยางต้องมีความบริสุทธิ์พอสมควร 2. ถ้าไปขายกับพ่อค้าคนกลางจะไม่ค่อยมีการคัดสรร แล้วราคาต่างกันไม่มาก จึงยอมเพื่อความสะดวก 3. เขามาดูลาดเลาว่า ตลาดพ่อค้าคนกลางซื้อขายในราคาใกล้เคียงรัฐบาล เลยนำไปขาย แต่ตัวเองยังมีโควตา 150 กิโลกรัม วันข้างหน้าถ้าขายไม่ได้ตามราคาพ่อค้าคนกลาง ก็จะมาขายกับรัฐบาล เรื่องนี้ที่เกิดขึ้น รัฐบาลไม่ได้วิตกกังวลอะไร เพราะปัจจัยสำคัญที่เราต้องการ คือ ทำอย่างไรให้พี่น้องเกษตรกรขายยางได้ในราคาที่เหมาะสม ใกล้เคียงกับราคาตลาดโลกมากที่สุด เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ถือว่าสมประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย” พล.ต.สรรเสริญ ระบุ