xs
xsm
sm
md
lg

"พิภพ"ชี้ทางสองแพร่งสปช.ส่งให้ทหารยกร่างรธน.ใหม่ หรือปชช.ตัดสิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพิภพ ธงไชย อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนประชาธิปไตย โพสต์ในเฟซบ๊กส่วนตัว ถึงการร่างรัฐธรรมนูญว่า เป็นทางสองแพร่งของสปช ที่ต้องตัดสินใจว่าจะส่ง รธน.ฉบับร่างไปทางไหน หากลงมติไม่รับร่างแล้วส่งไปให้ทหารยกร่างใหม่ หรือจะให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจผ่านการทำประชามติ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ร่างรัฐธรรมนูญไทย ๒๕๕๘

ชีวิตผมเริ่มต้นสนใจการเมือง โดยเข้าร่วมต่อสู้เรื่องรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๖ เพื่อนชื่อรังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ชวนให้ลงชื่อเรียกร้อง รธน.สมัยจอมพลถนอม กิติขจร เข้าชื่อกัน ๑๐๐ คน ที่นำโดยธีรยุทธ บุญมี ตอนนั้นผมไม่ได้สนใจเนื้อหา รธน.ว่าเมื่อเรียกร้องแล้ว รธน.จะเขียนโดยใคร และเมีเนื้อหาอย่างไร ขอให้มี รธน.และมีการเลือกตั้ง ก็พอ

หลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา. ประเทศก็ได้ รธน. ๒๕๑๗ ที่ยกร่างโดยชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ

ผมมาสนใจเคลื่อนไหวเนื้อหา รธน. ก็เมื่อเริ่มมีการยกร่าง รธน. ฉบับ ๒๕๔๐ และต่อมาถึงฉบับ ๒๕๕๐ และฉบับร่าง ๒๕๕๘ ที่กำลังถูกกล่าวขวัญกันในขณะนี้ โดยมุ่งสนใจไปในเรื่องสิทธิเสรีภาพ เรื่องการศึกษาทางเลือก เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน การกระจายอำนาจ สิทธิมนุษยชน เพื่อนำไปสู่"การเพิ่มอำนาจของประชาชน"..."ลดอำนาจฝ่ายรัฐและฝ่ายทุน" เพราะตลอดชีวิตนับตั้งแต่มีจิตสำนึกทางการเมือง ก็ทำกิจกรรมกับประชาชนในเรื่องนี้มาตลอด

แม้ความจริงของสังคมไทย เราจะมีการเมืองของนักการเมือง การเมืองของข้าราชการ การเมืองของทหาร และการเมืองของกลุ่มทุน ร่วมมือกันกดอำนาจประชาชนมาโดยตลอด แล้วเราก็เริ่มมีการเมืองของประชาชนมาตั้งแต่ยุคหลัง ๑๔ ตุลา. ๑๖ ต่อสู้ เพื่อพัฒนาอำนาจประชาชน มาจนคำว่า "การเมืองภาคประชน" ได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้น

โดยเริ่มจากการสู้เรื่องสิทธิเด็ก สิทธิสตรี สิทธิแรงงาน สิทธิชุมชน จนถึงสิทธิมนุษยชน สร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน แล้วนำไปสู่การกระจายอำนาจ เกิดศาลปกครอง เพื่อคุ้มครองสิทธิต่างๆเหล่านั้น จนเกิดคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เกิดการศึกษาทางเลือก เพื่อสร้างความหลากหลายในระบบการศึกษาให้มากขึ้น เกิดโรงเรียนทางเลือก (Alternative School) โรงเรียนในบ้าน(Home School) เกิดการแพทย์ทางเลือก เกษตรทางเลือก เกิดการคุ้มครองผู้บริโภค และสิทธิต่างๆอีกหลายอย่างหลายประการ จริงอยู่เมื่อได้สิ่งเหล่านี้มาแล้ว ประชาชนยังคงต้องต่อสู้ให้สิ่งที่ได้มาเป็นจริงมากขึ้น

สิ่งเหล่านี้ที่เขียนใน รธน. ล้วนเป็นตัวเสริมสร้างพลังประชาชน ให้พัฒนาอำนาจของตนเองเพิ่มมากขึ้น

ร่าง รธน. ๒๕๕๘ พัฒนาเรื่องดังกล่าวไปมาก และ รธน. ก็มีการยกร่างการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองของนักการเมืองข้าราชการใหม่ มีการควบคุมด้วยคณะพิเศษอีกชุดหนึ่ง โดยอ้างว่าจะแก้ปัญหาทางการเมือง ไม่ให้ย้อนกลับไปสู่สภาพเช่น ๑๐ ปีที่ผ่านมา จึงกลายเป็นประเด็นร้อนที่โต้แย้งกันอยู่ในขณะนี้

วันนี้ ร่าง รธน.อยู่ในมือของ สปช. จะมีมติเพื่อส่งร่างฉบับนี้กลับไปให้ทหารเขียนขึ้นมาใหม่ หรือจะมีมติผ่านร่าง รธน.ฉบับนี้ส่งไปให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจโดยการลงประชามติ ว่าจะรับหรือไม่รับร่าง รธน.ฉบับนี้

วันนี้ ประชาชนยังไม่ได้อ่าน รธน.อย่างพินิจพิเคราะห์แม้แต่มาตราเดียว ขบวนการประชามติ จะช่วยให้ประชาชนส่วนหนึ่งใช้เวลาอ่าน ร่าง รธน.อย่างจริง แล้วตัดสินใจว่าจะส่งร่างนี้กลับไปให้ทหารร่างใหม่ หรือให้ประกาศใช้ เพื่อให้การเมืองในระบบรัฐสภาเดินหน้าต่อ โดยมีทหารกำกับไปอีก ๕ ปี หรือ ๑๐ ปี

นี่คือสิ่งที่ สปช.ต้องตัดสินใจ ว่าจะส่ง รธน.ฉบับร่างไปทางไหน ส่งไปให้ทหารยกร่างใหม่ หรือจะให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจ

นี่เป็นทางสองแพร่งของ สปช. ที่สมาชิกทุกคน ที่ทหารเป็นผู้แต่งตั้ง จะมีสำนึกทางการเมืองแบบใด แบบทหารหรือแบบประชาชน

พิภพ ๓๑/๘/๕๘
กำลังโหลดความคิดเห็น