xs
xsm
sm
md
lg

คลังย้ำไทยเตรียมพร้อมก้าวสู่ AC เผยดำเนินการแล้ว 81%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าวในการเปิดสัมมนา "ยุทธศาสตร์กระทรวงการคลังด้านการเงิน การคลังเพื่อรองรับประชาคมอาเซียน (เอซี) ครั้งที่ 1" ว่า ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปิดเป็นประชาคมอาเซียนมาอย่างต่อเนื่อง โดยความพร้อมของไทยในการดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายการรวมตัวดังกล่าว ขณะนี้ดำเนินการไปแล้วถึงร้อยละ 81 นับเป็นอันดับ 2 ในอาเซียนรองจากประเทศสิงคโปร์ ที่ได้มีการดำเนินการไปแล้วร้อยละ 81.3 ขณะที่ประเทศสมาชิกในอาเซียนได้ดำเนินการไปแล้วโดยเฉลี่ยที่ร้อยละ 77

อย่างไรก็ตาม คณะมนตรีประชาคมอาเซียนอยู่ระหว่างการติดตามการดำเนินการของมาตรการที่เหลือ โดยมาตรการที่มีการดำเนินการล่าช้า ได้แก่ มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกทางการค้า ศุลกากร การบริการ การลงทุนและการขนส่ง โดยปัญหาส่วนใหญ่ที่ส่งผลให้การดำเนินการล่าช้ามาจากนโยบายในประเทศ การปรับประสานกฎระเบียบของประเทศสมาชิก และกระบวนการภายในประเทศที่มีความซับซ้อน ทำให้มาตรการต่างๆ ดำเนินการได้ล่าช้า ซึ่งสำนักเลขาธิการอาเซียนและประเทศสมาชิกอยู่ระหว่างเร่งรัดดำเนินการจัดทำมาตรการที่เหลืออยู่

นับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 ไทยและประเทศสมาชิกในอาเซียนจะเริ่มเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่งถือเป็นโอกาสและความท้าทาย โดยกรณีของไทย หากไม่เตรียมตัวให้พร้อม จะถือว่าเป็นการปิดโอกาส และเปิดโอกาสให้แก่ประเทศอื่นที่จะดึงดูดการลงทุนจากนอกกลุ่มอาเซียน ดังนั้น จึงอยากให้ภาครัฐและเอกชนมองการรวมตัวครั้งนี้เป็นโอกาส เร่งเตรียมความพร้อมรองรับการค้าและการลงทุนที่จะเกิดขึ้นมหาศาล

สำหรับการเตรียมความพร้อมรองรับประชาคมอาเซียนจะต้องดำเนินการ 2 ด้านประกอบกัน คือ ต้องเตรียมตัวเองให้พร้อม และต้องจุนเจือประเทศเพื่อนบ้านให้แข็งแรงด้วย โดยเมื่อไทยแข็งแรงและประเทศสมาชิกแข็งแรง ก็จะทำให้กลุ่มประเทศอาเซียนมีความแข็งแรงและมีอำนาจในการต่อรองกับประเทศอื่นๆ แม้การรวมกลุ่มเป็นประชาคมอาเซียนจะทำให้อัตราภาษีของไทยต้องปรับลดลง และทำให้รายได้ลดลงบ้าง แต่เมื่อรวมตัวกัน จะช่วยเพิ่มอำนาจการต่อรองทางการค้าให้กับกลุ่มประเทศสมาชิกได้มากขึ้น

ขณะที่ยุทธศาสตร์การเตรียมความพร้อมที่กระทรวงการคลังดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วม ได้แก่ การอำนวยความสะดวกด้านการค้า การลงทุน และด้านการเงิน การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่ ปรับปรุงโครงสร้างภาษีทั้งระบบ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค เช่น สนับสนุนการเข้าถึงบริการด้านการเงินของประชาชนระดับฐานรากและเอสเอ็มอี และการบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก เช่น สนับสนุนการจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีกับประเทศนอกกลุ่ม คาดว่าไทยสามารถรองรับความท้าทายที่เกิดขึ้นได้

ทั้งนี้ ความพยายามของประเทศในภูมิภาคอาเซียนในการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจโลก โดยประเทศสมาชิกอาเซียนมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาที่ร้อยละ 5.2 ต่อปี คิดเป็น 2 เท่าของอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลก อีกทั้งยังมีจีดีพีเพิ่มเป็น 2 เท่า ส่งผลให้ระดับความยากจนปรับลดลง
กำลังโหลดความคิดเห็น