นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 เหลือร้อยละ 1.75 ส่งผลให้การเคลื่อนไหวของเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลง จากระดับ 32.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ลงมาอ่อนค่าต่ำสุดที่ระดับ 32.94 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ การลดดอกเบี้ยนโยบายยังมีผลให้อัตราดอกเบี้ยผลตอบแทนพันธบัตรไทยอายุ 10 ปี ปรับลงมาอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี จากร้อยละ 2.74 ณ วันที่ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา ที่มีการประกาศดอกเบี้ย อัตราดอกเบี้ยนี้เคยต่ำสุดที่ร้อยละ 2.49 เมื่อ 14 มกราคม ที่ผ่านมา ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงดังกล่าวถือเป็นโอกาสดีในการลงทุนของภาคเอกชน เพราะต้นทุนดอกเบี้ยต่ำสุดในระดับภูมิภาค ส่วนสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายยังอยู่ในระดับปกติ โดยหลังจากนี้คาดว่าตลาดการเงินส่วนใหญ่จะรอดูทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐวันที่ 18 มีนาคมนี้
นายจิรเทพ กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยครั้งนี้ถือว่าช่วยพยุงความเชื่อมั่นและความรู้สึกของภาคธุรกิจและประชาชน และยังทำให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินลดลงด้วย ส่วนธนาคารพาณิชย์ตอบรับทิศทางการลดดอกเบี้ยเป็นที่พอใจของ ธปท.หรือไม่นั้น ยังต้องติดตามดูก่อน เพราะที่ผ่านมามีธนาคารไทยพาณิชย์แห่งเดียวที่ตอบรับปรับลดดอกเบี้ยลงตาม ธปท.
โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวด้วยว่า สำหรับความท้าทายระยะต่อไปของเศรษฐกิจไทยนั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถการแข่งขันและความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านภาษี ซึ่งในส่วนนี้มองว่านโยบายการเงินจะเข้ามาช่วยลดผลกระทบของเศรษฐกิจในช่วงสั้นได้ แต่หากจะไม่มีการปฏิรูปเลยประเทศก็จะเดินต่อไม่ได้
นายจิรเทพ กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยครั้งนี้ถือว่าช่วยพยุงความเชื่อมั่นและความรู้สึกของภาคธุรกิจและประชาชน และยังทำให้ต้นทุนการกู้ยืมเงินลดลงด้วย ส่วนธนาคารพาณิชย์ตอบรับทิศทางการลดดอกเบี้ยเป็นที่พอใจของ ธปท.หรือไม่นั้น ยังต้องติดตามดูก่อน เพราะที่ผ่านมามีธนาคารไทยพาณิชย์แห่งเดียวที่ตอบรับปรับลดดอกเบี้ยลงตาม ธปท.
โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวด้วยว่า สำหรับความท้าทายระยะต่อไปของเศรษฐกิจไทยนั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถการแข่งขันและความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านภาษี ซึ่งในส่วนนี้มองว่านโยบายการเงินจะเข้ามาช่วยลดผลกระทบของเศรษฐกิจในช่วงสั้นได้ แต่หากจะไม่มีการปฏิรูปเลยประเทศก็จะเดินต่อไม่ได้