xs
xsm
sm
md
lg

‘พิเชฐ’เชื่อลดหย่อนภาษีวิจัย300%จูงใจเอกชนสร้างนวัตกรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งจะมีการลดหย่อนภาษีส่งเสริมวิจัยและพัฒนาจาก 200% เป็น 300% นั้น มาตรการดังกล่าวถือว่าสำคัญต่อการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย และสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการเพิ่มการลงทุนวิจัยและพัฒนาของประเทศโดยรวมให้ได้ 1% ของจีดีพี รวมถึงเพิ่มสัดส่วนการวิจัยและพัฒนาของเอกชนกับภาครัฐ เป็น 70 ต่อ 30

ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พบว่าตั้งแต่เริ่มมาตรการยกเว้นภาษีวิจัยและพัฒนา 200% ตั้งแต่ปี 2545 มีผู้ขอรับรองโครงการและใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีฯ คิดเป็นมูลค่า 65 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนในปี พ.ศ. 2555 มีผู้ขอรับรองโครงการมีมูลค่าถึง 1,465 ล้านบาท มูลค่าโครงการสะสม 5,670 ล้านบาท นอกจากนี้จากการสำรวจของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยังพบว่าตัวเลขการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชน เพิ่มขึ้นจาก 20,684 ล้านบาท เป็น 26,800 ล้านบาท ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีมาตรการที่ผ่านมาถือว่ายังไม่เพียงพอกับสภาพการแข่งขันทางธุรกิจที่สูงขึ้นในปัจจุบัน ดังนั้นการยกเว้นภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 300% เชื่อว่าจะเป็นแรงจูงใจให้ภาคเอกชน เพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาทั้งที่เป็นเอกชนรายใหญ่และบริษัทข้ามชาติ ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจเอสเอ็มอีของไทย ที่เป็นซัพพลายเชนของภาคเอกชนดังกล่าว

“มาตรการยกเว้นภาษี 300% นี้ แม้จะมีผลต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐ แต่ปริมาณการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา ที่เพิ่มขึ้นของภาคเอกชน จะทำให้รัฐสามารถจัดเก็บรายได้ประเภทอื่นได้เพิ่มขึ้น เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอันเกิดจากการขายสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นและจ้างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งจากข้อมูลของภาคเอกชนพบว่า สร้างรายได้เข้ารัฐมากกว่าภาษีที่รัฐสูญเสียไปหลายเท่าตัว” ดร.พิเชฐ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น