xs
xsm
sm
md
lg

"อภิสิทธิ์"เสนอ 3 ประเด็นยกร่าง รธน.แนะยกเลิกกฎอัยการศึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ วันนี้ (27 พ.ย.) เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 09.30 น. มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นประธาน ทั้งนี้ ได้เชิญนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้ข้อเสนอแนะในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
นายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าให้ข้อเสนอแนะว่า ข้อเสนอแนะที่จะแจ้งต่อกรรมาธิการยกร่างฯ ในวันนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัว ไม่ผูกมัดกับพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากขณะนี้ยังไม่สามารถประชุมพรรคได้ สำหรับข้อเสนอการยกร่างรัฐธรรมนูญมี 3 ประเด็น คือ 1. ต้องทำให้รัฐธรรมนูญมีความยั่งยืน ด้วยกระบวนการประชามติ เพื่อลดข้อโต้แย้งหรือปัญหาจากกลุ่มบุคคลที่ไม่พอใจที่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ ส่วนกระบวนการทำประชามตินั้นต้องเสนอทางเลือกที่ชัดเจนให้กับประชาชน เช่น กรณีไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีทางเลือกอื่นใดให้ประชาชนบ้าง
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญไทยต้องคงสิทธิเสรีภาพ หรือการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงสิทธิ์การเลือกผู้บริหารประเทศ และกำหนดทิศทางของประเทศไว้ให้เหมือนกับที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญต้องแก้ปัญหาการทุจริต คอร์รัปชั่น การใช้อำนาจที่มิชอบของฝ่ายการเมืองซึ่งเป็นปัญหาหลักของระบบการเมืองที่ผ่าน ด้วยกระบวนการลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจและบทบาทของประชาชนรวมถึงกลไกตรวจสอบ ถ่วงดุล และต้องไม่ใช้วิธีแก้ปัญหาที่ทำให้พรรคการเมือง หรือการทำงานในรัฐสภาอ่อนแอลง คนยืนยันว่ารัฐบาลต้องมีเสียงข้างมาก แต่การเข้ามาใช้อำนาจและมีอำนาจแล้วต้องถูกตรวจสอบได้ รวมถึงผู้ใช้อำนาจนั้นต้องมีความรับผิดชอบต่อความเสียหายอย่างทันเหตุการณ์ ไม่ใช่ปล่อยปัญหาออกไป จนเกิดแรงต่อต้านสะสม ส่วนประเด็นของระบบเลือกตั้งนั้น ตนมองว่าปัญหาไม่ใช่อยู่ที่ระบบ แต่มาจากคนที่ถูกเลือกเข้าไปทำหน้าที่นั้นใช้อำนาจไปในทางที่มิชอบ ทำให้ประเทศเสียหาย ประชาชนเสียประโยชน์ ดังนั้นต้องหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น
นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ ยังเสนอให้มีการยกเลิกการประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร เพื่อประโยชน์ต่อการทำงานปฏิรูปและยกร่างรัฐธรรมนูญในการรับฟังความเห็นที่หลากหลาย และลดบรรยากาศโต้แย้งที่เกิดขึ้นในสังคม
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากฝ่ายความมั่นคงยกเลิกกฎอัยการศึกไปแล้ว คงไม่เกิดปัญหาพร้อมกันทั่วประเทศ ดังนั้น เมื่อยกเลิกไปแล้วและเกิดปัญหาในบางพื้นที่ ควรใช้วิธีประกาศเป็นพื้นที่ได้ซึ่งเป็นหน้าที่ของ คสช.ที่จะชั่งน้ำหนักระหว่างการจำกัดเสรีภาพกับการเสียโอกาสที่จะรับฟังความเห็นของประชาชนว่าส่วนใดมีความคุ้มค่ามากกว่า ซึ่งเชื่อว่าหน่วยงานด้านความมั่นคงมีข้อมูลอยู่เช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น