xs
xsm
sm
md
lg

สธ.นำร่องจัดบริการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง มะเร็ง-โรคไต ระยะสุดท้าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้ทั่วโลกให้ความสนใจในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก (World Health Assembly) ที่กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิสครั้งที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 19-24 พฤษภาคม 2557 ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายและถือเป็นประเด็นที่ต้องส่งเสริมเพื่อให้มีการบริการอย่างทั่วถึง ในส่วนของประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายเร่งรัดการดำเนินการสร้างเสริมสุขภาวะในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่อยู่ในภาวะที่พึ่งพิง รวมทั้งผู้ป่วยที่อยู่ในระยะท้ายของชีวิตอย่างเป็นรูปธรรม มีผลอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยเน้นการมีส่วนร่วมดูแลจากชุมชนและครอบครัว สำหรับบริการดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้ายของชีวิตนี้ เป็นบริการใหม่ในระบบสุขภาพไทยและมีความจำเป็น เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคเรื้อรังเช่นมะเร็ง เบาหวาน โรคไต โรคเอดส์ เป็นต้น จำนวนมากรวมกว่า 4 ล้านราย และพบมากในผู้สูงอายุ โดยโรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประเทศติดต่อกันมากว่า 10 ปี คือโรคมะเร็ง เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 60,000 กว่าราย แนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พบทุกหมู่บ้าน ในปี 2555 มีรายงานเสียชีวิต 63,272 ราย เฉลี่ย 1 รายทุก 8 นาที โรคนี้ทำผู้ป่วยมีความทุกข์ทรมานมาก โดยเฉพาะอาการปวดจากอวัยวะภายในที่เซลล์มะเร็งลุกลามไป

นายแพทย์รัชตะกล่าวว่า ได้มอบหมายให้กรมการแพทย์ พัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ให้เหมาะสมกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแต่ละกลุ่มโรคและสถานพยาบาลแต่ละระดับ ตามบริบทสังคมไทย ให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาที่มีมาตรฐาน เพื่อคลายอาการทุกข์จากการป่วยทั้งการจัดการความเจ็บปวด อาการไม่พึงประสงค์ต่างๆ และการดูแลด้านจิตใจ จิตวิญญาณตามหลักศาสนาแก่ผู้ป่วยและญาติ ลดความซึมเศร้าลง

ทางด้านนายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า แนวทางการรักษาผู้ป่วยในระยะสุดท้ายแบบประคับประคองนี้ ขณะนี้กำลังได้รับความสนใจจากทั่วโลก ไทยได้เริ่มพัฒนาระบบริการในโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ 7 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลระดับเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ได้แก่ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี โรงพยาบาลสงฆ์ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี โรงพยาบาลเลิดสิน และโรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งส่วนใหญ่จะดูแลผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคที่รักษายาก โรคที่มีความซับซ้อนหรือมีอาการหนัก เช่น โรคมะเร็ง โรคไต เป็นต้น ดำเนินการมา 10 กว่าปี โดยตั้งเป็นหออภิบาลคุณภาพชีวิตโดยเฉพาะ แยกสัดส่วนการรักษาจากผู้ป่วยอื่น ให้เป็นสถานที่พักผ่อนของผู้ป่วยระยะสุดท้าย

หากโรงพยาบาลใดมีสถานที่เพียงพอและมีผู้ป่วยจำนวนมาก ก็จะจัดสัดส่วนอย่างชัดเจน เช่น โรงพยาบาลสงฆ์ โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี จะจัดสถานที่รักษาแบบกึ่งบ้านและแยกเป็นอาคารเพื่อให้ง่ายต่อการดูแลรักษาหรือจัดให้อยู่ห้องแยก และสร้างจิตอาสาข้างเตียงคอยดูแลและให้กำลังใจผู้ป่วยซึ่งมีประมาณ 20 คน เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติ พูดคุยและมีกิจกรรมร่วมกันได้มากขึ้น


ในปี พ.ศ.2555 มีผู้ป่วยโรคมะเร็งใหม่ 3,917 ราย เพิ่มจากปี พ.ศ.2551 ที่มีเพียง 2,949 ราย ในการดูแลจะใช้วิธีการรักษาแบบประคับประคอง (Palliative Care) คือ บำบัดรักษาตามอาการที่ปรากฏ เพื่อทำให้ผู้ป่วยมีความสุขมากที่สุด ไม่เจ็บปวดทรมาน ให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบ ใช้ดูแลได้ทั้งโรคมะเร็งและโรคอื่นๆ ที่รู้ว่าไม่สามารถรักษาให้หายได้และคุกคามต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย ทั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยได้อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง หากญาติมีความต้องการให้ผู้ป่วยไปพักผ่อนที่บ้านก็สามารถทำได้ โดยทีมสหวิชาชีพจะแนะนำการดูแลรักษา ทั้งเรื่องอาหารและยา ให้ความรู้อาการของผู้ป่วยทุกขั้นตอนที่จะเกิดขึ้นเป็นลำดับเพื่อญาติเข้าใจและสามารถดูแลผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด โดยมีระบบให้ญาติโทรสอบถามแพทย์และพยาบาลผู้ดูแลได้ตลอด 24 ชั่วโมงเช่นกัน หรือจัดส่งหน่วยเยี่ยมบ้านออกไปเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้านทุก 1-2 สัปดาห์เพื่อดูอาการพร้อมให้คำแนะนำกับญาติ โดยตั้งเป้าขยายแนวทางการรักษาแบบประคับประคองผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้สมบูรณ์แบบในโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ที่มี 16 แห่งทั่วประเทศ เพื่อหารูปแบบที่ดีและเหมาะสมกับสังคมไทยต่อไป

จากผลการสำรวจความพึงพอใจบริการการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ครั้งล่าสุดในปี 2557 พบว่า ญาติผู้ป่วยมีความพึงพอใจสูงถึงร้อยละ 98 โดยพอใจในการบริการและช่วยเหลือของทีมสหวิชาชีพ เช่น การให้คำแนะนำ รับฟังปัญหา การให้กำลังใจและอยู่เป็นเพื่อนคู่คิด
กำลังโหลดความคิดเห็น