xs
xsm
sm
md
lg

กรมการแพทย์เผยรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยวิธีใช้ความร้อนได้ผลดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ทั่วโลกมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่จำนวน 12.7ล้านราย สำหรับประเทศไทย พบว่าเพศชายป่วยเป็นโรคมะเร็งตับมากที่สุดและในเพศหญิงพบโรคมะเร็งเต้านมสูงเป็นอันดับแรก โดยปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งตับ ที่สำคัญคือการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ และพยาธิใบไม้ในตับ จากสถิติพบว่าผู้ป่วยมะเร็งตับที่สามารถผ่าตัดได้ มีเพียง 10-15% ที่เหลือ จะเป็นการรักษาแบบประคับประคอง ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถมีชีวิตได้ประมาณ 2-3 เดือนเท่านั้น ส่วนมะเร็งเต้านม แม้ว่าการรักษาพยาบาลด้านโรคมะเร็งในระยะต้นจะได้ผลดี โดยอัตราการมีชีวิตรอดที่ 5 ปี ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะที่ 1ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ สูงเกือบ 100%แต่อัตราการรอดชีวิตจะลดลงเหลือเพียง 30-50% เมื่อผู้ป่วยอยู่ในระยะที่ 3 และ 4

"สถาบันมะเร็งแห่งชาติได้มีเครื่องออนโคเทอร์เมียใช้เป็นที่แรกในไทยและอาเซียน และได้มีการศึกษาวิจัยประสิทธิภาพการใช้งาน เบื้องต้นได้ผลดี ถ้ามีการศึกษามากขึ้นแล้วพบว่าดี จะเสนอเป็นเชิงนโยบายในการใช้เป็นแนวทางรักษาผู้ป่วยมะเร็ง โดยจะเริ่มที่ศูนย์มะเร็งของกรมการแพทย์ในแต่ละภูมิภาคก่อน

ด้าน นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ จึงได้ทำการศึกษาวิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งด้วยวิธีใช้ความร้อนเพื่อเป็นการรักษาทางเลือก หรือร่วมรักษาในโรคมะเร็ง ปัจจุบันมี 3 รูปแบบ คือ 1.การใช้ความร้อนระดับต่ำ 2.การใช้ความร้อนระดับปานกลาง 3.การใช้ความร้อนระดับสูง โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้นำการใช้ความร้อนระดับปานกลาง หรือ ออนโคเทอร์เมีย (Oncothermia)มาใช้รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หลักการทำงาน คือ การใช้ความร้อนระดับปานกลาง อุณหภูมิประมาณ 42-43 องศาเซลเซียส เฉพาะที่กับตัวมะเร็ง เพื่อให้เกิดกระบวนการตายของเซลล์มะเร็งแบบไม่เกิดการอักเสบ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอัตราการรอดชีวิตมากขึ้น ซึ่งผลการศึกษาในเบื้องต้นพบว่าสามารถเป็นทางเลือกหรือร่วมรักษาในผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้ผลดี และเตรียมขยายผลการศึกษาในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาในผู้ป่วยรายบุคคล รวมถึงเพิ่มอัตราการอยู่รอดในระยะยาวของผู้ป่วย การลดโอกาสเกิดโรคซ้ำ
กำลังโหลดความคิดเห็น