xs
xsm
sm
md
lg

ศธ..รับลูกคสช.บรรจุ 12 ค่านิยมคนไทยลงแผนปฏิรูปการศึกษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่าการสร้างค่านิยมของคนไทย 12ประการ ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้น กระทรวงศึกษาธิการได้รับมอบหมายเรื่องการพัฒนาคนอยู่แล้ว โดยอยู่ระหว่างการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบในหลายด้าน เป็นเรื่องดีที่มีการกำหนดเป็นค่านิยมหลัก 12 ประการ ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมีทิศทางที่ชัดเจนตรงกัน ในการพัฒนาคน

โดยกระทรวงศึกษาธิการจะเร่งนำค่านิยมหลัก 12 ประการ ไปสานต่อเป็นรูปธรรม บรรจุลงในเป้าหมายของแผนโรดแมปปฏิรูปการศึกษา พ.ศ.2558-2564 ซึ่งอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นก่อนจะนำเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ โดยมีประชาชนเสนอความคิดเห็น มาแล้วจำนวนมาก ทั้งทางไปรษณีย์ และเว็บไซต์ www.edreform.moe.go.th

ซึ่งในแผนเร่งด่วน ศธ.ได้เริ่มปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมืองแล้ว เพื่อให้นักเรียนรู้หน้าที่ของคนไทย มีระเบียบวินัย มีคุณธรรมจริยธรรม มีความภูมิใจในชาติและความเป็นคนไทย โดยจะเริ่มดำเนินการใช้หลักสูตรใหม่ในภาคเรียนที่ 2ปี 2557ขณะที่วิชาลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด จะเน้นย้ำให้มีการเรียนการสอนที่ครบถ้วนเข้มข้น นอกจากนี้จะทำข้อตกลงกับกระทรวงวัฒนธรรม จัดหลักสูตรธรรมะศึกษาเข้าไปในโรงเรียน ซึ่งนักเรียนที่เรียนจบยังได้รับประกาศนียบัตรนักธรรมตรีควบคู่ไปด้วย

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการสร้างค่านิยมของคนไทยจะต้องอาศัยความร่วมมือกันทุกภาคส่วนด้วย ตั้งแต่ระดับครอบครัวที่จะต้องมีความรักความอบอุ่น พ่อแม่จะต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ต่อเนื่องไปถึงระดับชุมชนและสังคม เมื่อเด็กเข้าสู่โรงเรียนก็จะได้รับการปลูกฝังค่านิยมจากครูอาจารย์ ซึ่ง ศธ.จะปรับปรุงระบบการคัดเลือกบรรจุครูใหม่ เพื่อให้ได้ครูดี เก่ง และที่สำคัญต้องมีจิตวิญญาณความเป็นครู เพื่อจะเป็นแบบอย่างที่ดีกับศิษย์ได้

สำหรับค่านิยมหลักของคนไทย 12ประการ ตามนโยบายของ คสช. ประกอบด้วย

1. มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2 .ซื่อสัตย์ เสียสละ อดทน มีอุดมการณ์ในสิ่งที่ดีงามเพื่อส่วนรวม
3. กตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์
4. ใฝ่หาความรู้ หมั่นศึกษาเล่าเรียนทั้งทางตรง และทางอ้อม
5. รักษาวัฒนธรรมประเพณีไทยอันงดงาม
6. มีศีลธรรม รักษาความสัตย์ หวังดีต่อผู้อื่น เผื่อแผ่และแบ่งปัน
7. เข้าใจเรียนรู้การเป็นประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ถูกต้อง
8. มีระเบียบวินัย เคารพกฎหมาย ผู้น้อยรู้จักการเคารพผู้ใหญ่
9. มีสติรู้ตัว รู้คิด รู้ทำ รู้ปฏิบัติตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
10. รู้จักดำรงตนอยู่โดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รู้จักอดออมไว้ใช้เมื่อยามจำเป็น มีไว้พอกินพอใช้ ถ้าเหลือก็แจกจ่ายจำหน่าย และพร้อมที่จะขยายกิจการเมื่อมีความพร้อม เมื่อมีภูมิคุ้มกันที่ดี
11. มีความเข้มแข็งทั้งร่างกาย และจิตใจ ไม่ยอมแพ้ต่ออำนาจฝ่ายต่ำ หรือกิเลส มีความละอายเกรงกลัวต่อบาปตามหลักของศาสนา
12. คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม และของชาติมากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น