xs
xsm
sm
md
lg

ชงปฏิรูปการศึกษาระยะสั้นยาว รื้อระเบียบใหม่ - ตั้งองค์กรอิสระดึงทุกภาคส่วนเป็นกรรมการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชงแผนปฏิรูปการศึกษาระยะสั้น - ยาว โดยระยะสั้นให้รื้อระเบียบกฎเกณฑ์ เปิดทาง ร.ร. พื้นฐานมีสถานนิติบุคคลได้ตามใจ เพิ่มสัดส่วนผู้กู้ยืม กยศ. ให้เด็กสายอาชีพมากกว่าอุดมชี้ช่วยจูงใจคนเรียนสายอาชีพ และสนับสนุน ร.ร. ที่พร้อมปฏิรูปตนเอง แนะประสาน กสทช. จัดสรรทีวีเพื่อการศึกษา 3 ช่องผลักดันให้เกิดกฎหมายพัฒนาสื่อปลอดภัยสร้างสรรค์ ขณะที่ระยะยาวให้จัดตั้งองค์กรอิสระปฏิรูปการศึกษา ดึงทุกภาคส่วนทั้งรัฐ นักวิชาการ สื่อ และภาคธุรกิจร่วมเป็นกรรมการ
ภาพประกอบจากwww.moe.go.th
รศ.ประภาภัทร นิยม กรรมการและเลขานุการมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ ได้นำเสนอข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับโครงสร้างการปฏิรูปการศึกษา ในการประชุมคณะทำงานปฏิรูปการศึกษาเพื่อหารือแนวทางข้อเสนอปฏิบัติการศึกษา (ระยะสั้นและระยะยาว) เพื่อส่งมอบต่อ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ว่า ข้อเสนอปฏิรูปการศึกษาระยะสั้น พ.ศ. 2558 - 2560 ที่ คสช. ตัดสินใจได้ทันที เรื่องแรก ต้องปฏิรูประเบียบกฎเกณฑ์ เช่น โซนนิงสถานศึกษาภายใน 5 กิโลเมตร ให้ปลอดอบายมุข ให้สถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นนิติบุคคลตามสมัครใจ ปรับย้ายเงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. เพื่อดึงดูดให้คนเรียนอาชีวศึกษาในสัดส่วนมากกว่าอุดมศึกษา 70:30 ส่วนระดับอุดมศึกษาให้ปรับระบบการประเมินทั้งภายในและภายนอกไม่ให้เป็นภาระแก่สถานศึกษา นอกจากนี้ ต้องปฏิรูปโรงเรียนที่พร้อมจะปฏิรูปตนเอง จำนวน 389 โรง ได้แก่ กลุ่ม ร.ร. ขนาดเล็ก และ ร.ร. ชุมชน 51 โรง, ร.ร. วิถีพุทธ 692 โรง, ร.ร. ชนเผ่า 23 โรง, ร.ร. เครือข่ายสมาคมผู้เรียนเป็นสำคัญ 11 โรง, เครือข่าย ร.ร. ไทยไท 12 โรง ระดับอาชีวศึกษาร่วมมือกับเอกชนขยายผลสหกิจศึกษา 60,000 คนต่อปี ขยายผลทวิภาคี 500 แห่ง ระดับอุดมศึกษา สนับสนุนให้รับใช้ชุมชน ทำวิจัยร่วมกับเอกชน และประชาสังคม 
 
ส่วนแผนระยะสั้น เรื่องที่สอง การปฏิรูปสื่อเพื่อการศึกษา โดยปรับปรุงเนื้อหาสื่อโดยให้ คสช. แต่งตั้งคณะกรรมการสื่อระดับชาติ ทำหน้าที่ดูแลหาช่องทางเผยแพร่สื่อดีเป็นประโยชน์, ดูแลการผลิตและพัฒนาเนื้อหาซอฟต์แวร์ต่างๆ เป็นต้น โดยขอความร่วมมือคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ จัดสรรทีวีช่องการศึกษา 3 ช่อง ทั้งผลักดันร่าง พ.ร.บ. กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เข้าสู่ ครม., พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการสื่อสร้างสรรค์พลเมือง เพื่อขับเคลื่อนยุทธาสตร์สื่อสร้างสรรค์
 
“ระยะยาว พ.ศ. 2558 - 2578 เสนอให้ คสช. จัดตั้งสภาปฏิรูปการศึกษา ทำงานตามข้อเสนอระยะสั้นและจัดตั้งองค์กรอิสระในรูปสภาปฏิรูปการศึกษาหรือสถาบันพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ เพื่อปฏิรูปการศึกษาในระยะยาว พ.ศ. 2558 - 2568 โดยคณะกรรมการสภาปฏิรูปการศึกษา ประกอบด้วย กรรมการ 24 คน โดย คสช. เป็นประธาน, ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ 5 คน ได้แก่ ปลัด ศธ., เลขาธิการ สพฐ., เลขาธิการ สอศ., เลขาธิการ สกอ. และเลขาธิการ กศน. ผู้แทรงคุณวุฒิ 5 คน ได้แก่ นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา, ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช, นายมีชัย วีระไวทยะ, นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์, ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ภาคธุรกิจเอกชน 3 คน นักวิชาการหรือนักการศึกษา 3 คน ภาคประชาสังคม 4 คน และสื่อ 2 คน ได้แก่ ผู้แทน กสทช., ผู้แทนจากคณะกรรมการสื่อสร้างสรรค์พลเมือง และกรรมการและเลขานุการ 1 คน” รศ.ประภาภัทร กล่าว

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น