xs
xsm
sm
md
lg

สตูลระดมสมอง 5 กลุ่มองค์กร เสนอปัญหาจาก 11 ประเด็นสู่การปฏิรูป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สตูล - จ.สตูล เรียกประชุม 5 กลุ่มองค์กรใหญ่ ร่วมเสนอปัญหาเพื่อการปฏิรูป 11 ประเด็น ตามนโยบาย คสช.ผู้ว่าฯ ระบุอยากให้ทุกฝ่ายใช้เวทีนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อการร่วมกันหาแนวทางแก้ไขเพื่อพัฒนาจังหวัด และประเทศ

วันนี้ (9 ก.ค.) จังหวัดสตูล จัดเวทีเสวนาประเด็นข้อมูลเพื่อการปฏิรูป 11 ประเด็น โดยมี นายเหนือชาย จิระอภิรักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลเป็นประธาน มีข้าราชการ ตำรวจ ทหาร ประชาชน ผู้นำทางการเมือง เยาวชน ได้ร่วมประชุมเสวนาในครั้งนี้กว่า 300 คน โดยแยกเป็น 5 กลุ่มใหญ่ ประกอบด้วย ภาคประชาชน ภาคราชการและรัฐวิสาหกิจ ภาคแกนนำทางการเมือง ภาคธุรกิจเอกชน และภาคทางสังคมและเครือข่าย ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ศาลากลางจังหวัดสตูล

โดยผู้ว่าราชการจังหวัด กล่าวให้ทุกคนที่เข้ามาร่วมในครั้งนี้เสนอประเด็นได้เต็มที่ ทั้งทางบก ทางทะเล ปัญหาการทำมาหากิน ทุกๆ ปัญหา เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการหาแนวทางแก้ ขอให้ทุกคนใช้โอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์ต่อจังหวัด และประเทศต่อไป

ด้าน นายเอกรัฐ หลีเส็น ปลัดจังหวัดสตูล ในฐานะเลขาศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปจังหวัด (ศปป.จว.สต.) กล่าวว่า หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้าควบคุมยึดอำนาจการปกครอง โดยมีเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องจัดระเบียบ และปฏิรูปประเทศไทยโดยเร่งด่วน และร่วมใจกันแก้ปัญหาทั้งปวงเพื่อขจัดความขัดแย้ง และความแตกแยกทางสังคมให้ได้โดยเร็วที่สุด

โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้วางแนวทางทางการดำเนินงาน (Road Map) ไว้ 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 สร้างความปรองดองสมานฉันท์ และจัดตั้งคณะทำงานเตรียมการปฏิรูป ภายในเวลา 2-3 เดือน ระยะที่ 2 ใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว จัดตั้งสภานิติบัญญัติ สรรหานายกรัฐมนตรี จัดตั้งสภาปฏิรูป และจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายใน 1 ปี และระยะที่ 3 ปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย แก้ไขความไม่เป็นธรรมต่างๆ จัดการเลือกตั้ง ให้ได้คนดีมาปกครองบ้านเมืองตามหลักธรรมาภิบาลภายในปี 2558 สำหรับการจัดเวทีเสวนาข้อมูล เพื่อการปฏิรูป ทั้ง 11 ประเด็นนี้ จะนำผลไปวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับมาทั้งหมด รวบรวมรายงานกระทรวงมหาดไทย และศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปต่อไป

โดยประเด็นข้อมูลเพื่อการปฏิรูป 11 ประเด็น ได้แก่ แนวทางการปฏิรูปทางการเมือง แนวทางการสร้างมาตรฐานจริยธรรมของผู้บริหารประเทศ อันได้แก่ นักการเมือง ข้าราชการ และหน่วยงานเอกชนต่างๆ แนวทางปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม แนวทางการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น การกระจายอำนาจ หรือความซ้ำซ้อนในการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ แนวทางการปฏิรูปการทุจริต คอร์รัปชัน แนวทางการปฏิรูปการศึกษา แนวทางการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ แนวทางการปฏิรูปด้านข้อมูลข่าวสาร แนวทางการปฏิรูปความเหลื่อมล้ำทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม แนวทางการปฏิรูปการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ และป่าไม้ และแนวทางการปฏิรูปด้านอื่นๆ เช่น ระบบพลังงาน




 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น