xs
xsm
sm
md
lg

"รสนา" FB : ย้ำ คสช. ไม่ควรเร่งรัดเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)กทม. ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊คระบุถึงข่าวการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ดังนี้

"ข่าววันที่17มิถุนายน 2557รายงานว่ากระทรวงพลังงาน "เล็งชง" ประยุทธ์ ปธ กพช. ชุดใหม่อนุมัติเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ21 เหตุปริมาณก๊าซลดลงทุกปี

1) ที่กระทรวงพลังงานเรียกร้องให้รีบเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ21 เพราะก๊าซจะหมด และจะกระทบการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้านั้น น่าจะเป็นเพียงข้ออ้างมากกว่าเพราะแท้ที่จริงแล้วการต้องการก๊าซเพิ่มนั้นเพื่อป้อนอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ตั้งแต่สร้างโรงแยกก๊าซโรงที่6 ผู้บริหารปตท.เคยพูดในกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภาว่าแอลพีจีจากโรงแยกก๊าซโรงที่6 จะเอาไว้ให้ปิโตรเคมีใช้เท่านั้น

ส่วนก๊าซที่จะมาป้อนโรงไฟฟ้านั้น ในสมัยรัฐบาลน.ส ยิ่งลักษณ์ ได้เดินทางพร้อมปตท.ไปทำสัญญาซื้อก๊าซLNG จาก การ์ต้าเพื่อมาป้อนโรงไฟฟ้า ซึ่งจะเห็นได้ว่าก๊าซจากอ่าวไทยที่เรียกว่า Gulf Gas มีราคาถูก ปตท.ขายให้บริษัทลูกของตัวเอง ส่วน Pool Gas เป็นก๊าซที่มาจากพม่า และก๊าซ LNGและก๊าซอ่าวไทยที่เหลือใช้ซึ่งมีราคาแพงกว่า จะขายให้กฟผ.ไปผลิตไฟฟ้า ทั้งที่กฟผ.เป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐ 100% แต่เหตุใดปล่อยให้ซื้อก๊าซในราคาแพงกว่าบริษัทลูกของปตท.ทั้งที่รัฐถือหุ้นใหญ่ในปตท.และไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงที่แพงกว่าก็ถูกผลักมาเป็นค่าไฟที่ประชาชนต้องจ่ายแพงขึ้น

2) แหล่งปิโตรเลียมที่รัฐบาลให้สัมปทานไปแล้ว ที่เป็นพื้นที่ที่ยังไม่ได้ทำการผลิตคือ 202,722.68ตารางกิโลเมตร ส่วนพื้นที่ที่มีการผลิตมีเพียง 17,418.419 ตารางกิโลเมตร (ที่มา : รายงานประจำปี 2554 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน หน้า54-55) จะเห็นได้ว่ามีพื้นที่ที่ให้สัมปทานไปแล้วอีกมากมาย ที่ยังไม่ได้ทำการผลิต จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องรีบร้อนให้เพิ่มอีก เป็นการปล่อยให้เอกชนมาจองพื้นที่แบบจับเสือมือเปล่า เพื่อไปหากำไรจากการขายกรรมสิทธิต่อ

ดังกรณีของสหรัฐฯ อดีตประธานาธิบดีบุช เคยจะขอให้มีการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมเพิ่ม แต่สภาคองเกรสไม่อนุมัติ โดยบอกให้ไปพัฒนาการผลิตในพื้นที่ที่ให้สัมปทานไปแล้วให้เต็มที่เสียก่อน ค่อยมาขอสัมปทานพื้นที่เพิ่ม

การให้สัมปทานปิโตรเลียมของไทยเป็นการให้เอกชนมีกรรมสิทธิเหนืออธิปไตยทางดินแดนของประเทศ ซึ่งประชาชนเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบ และแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมเสียก่อน เพราะต่างชาติที่ได้สัมปทานพื้นที่ของไทย มีการนำไปเทรดกันในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ

อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้มาชี้แจงต่อกรรมาธิการในวุฒิสภาเมื่อกุมภาพันธ์ 2557 ว่ากรณีของแหล่งนงเยาว์ และแหล่งมโนราห์ซึ่งเป็นสัมปทานของบริษัทเพิร์ลออย ถูกบริษัทมูบาดาลาของตะวันออกกลางเทคโอเวอร์ในตลาดหุ้นที่สิงคโปร์ และทำกำไรให้บริษัทเพิร์ลออยไป 5,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลไทยไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆจากการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ ที่บริษัทเอกชนต่างชาตินำผืนแผ่นดินไปไปค้าขายในตลาดหุ้น

3) สัมปทานยุคThailand 1 ที่ให้สัมปทานไปตั้งแต่2514 ที่จะหมดสัมปทานในปี 2565-2566 ตามพ.ร.บ ปิโตรเลียม 2514 ไม่สามารถให้ต่อสัมปทานได้อีกตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย หากมีปริมาณปิโตรเลียมเหลืออยู่ ควรที่รัฐบาลจะดำเนินการจ้างผลิต แทนการให้สัมปทานต่อ แต่ไม่ว่ารัฐบาลจะเลือกวิธีจ้างผลิต หรือให้สัมปทานต่อ ก็ต้องแก้ไขพ.ร.บ ปิโตรเลียมทั้ง2กรณี เพราะพ.ร.บ ปิโตรเลียม2514 ระบุว่าการผลิตปิโตรเลียมต้องเป็นสัมปทานเท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องมีเวลาในการพิจารณาแกไขกฎหมายปิโตรเลียมก่อน

4) พ.ร.บ ปิโตรเลียม 2514 มีอายุ43ปี แล้วสมควรมีเปลี่ยนแปลง แก้ไขให้ทันสมัยขึ้น ด้วยการเปลี่ยนระบบจากสัมปทานที่ยกกรรมสิทธิให้เป็นของเอกชน มาเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต ที่เป็นการเปลี่ยนกรรมสิทธิในปิโตรเลียม ข้อมูล และอุปกรณ์กลับมาเป็นของประเทศอีกครั้ง

กระทรวงพลังงานควรต้องรับฟังเสียงของประชาชนที่เป็นเจ้าของทรัพยากร ไม่ควรดึงดันทำตามความต้องการของกลุ่มธุรกิจพลังงาน โดยหลงลืมผลประโยชน์ของบ้านเมืองและประชาชน

ประชาชนคาดหวังว่าท่านประธานคสช.ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติจะไม่เร่งรัดการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ21 ตามความต้องการของกลุ่มธุรกิจพลังงาน และจะนำประเด็นนี้ไปเป็นเรื่องหนึ่งที่จะมีการพิจารณาในสภาปฏิรูปที่จะมีการตั้งขึ้นต่อไป"
กำลังโหลดความคิดเห็น