xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ค่ายญี่ปุ่นเฮโลเรียกคืนรถ ย้ำถึงจุดอ่อนห่วงโซ่อุปทานเพื่อลดต้นทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โตโยต้า, ฮอนด้า, นิสสัน, และมาสด้า 4 ค่ายรถชั้นนำของญี่ปุ่น พร้อมใจกันเรียกรถยนต์ที่ขายออกไปแล้วกลับคืนมาซ่อมแซมจำนวนรวมกันเฉียดๆ 3.4 ล้านคัน สืบเนื่องจากปัญหาถุงลมนิรภัย หรือ “แอร์แบ็ก” ซึ่งผลิตโดยบริษัทร่วมชาติที่ชื่อว่า ทากาตะ นับเป็นการเรียกคืนรถครั้งใหญ่อีกครั้งของบริษัทแดนอาทิตย์อุทัย รวมทั้งยังตอกย้ำถึงจุดอ่อนของการใช้ห่วงโซ่อุปทานในระดับโลกเพื่อการลดต้นทุน

บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชื่อดังของญี่ปุ่นทั้ง 4 แห่ง แยกกันออกคำแถลงเมื่อวันพฤหัสบดี(11) ในเรื่องการเรียกรถยนต์ที่ขายออกไปแล้วในทั่วโลกกลับคืนมาซ่อมแซม ซึ่งรวมกันแล้วจะเป็นจำนวนทั้งสิ้น 3.39 ล้านคัน โดยที่ต่างระบุตรงกันว่าเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องจากถุงลมนิรภัยด้านของผู้โดยสาร ซึ่งผลิตโดยบริษัททากาตะ

โฆษกของโตโยต้าแถลงว่า บริษัทจะทำการเรียกคืนรถ 1.73 ล้านคัน ที่ติดตั้งอุปกรณ์จุดระเบิดให้เกิดลมเพื่อให้ถุงลมนิรภัยพองออกมา ซึ่งอาจมีชิ้นส่วนที่เรียกว่า propellant wafer บกพร่อง ส่งผลให้ถุงลมไม่พองตัวเมื่อเกิดอุบัติเหตุ และยังอาจทำให้เกิดการลุกไหม้ในห้องโดยสารอีกด้วย กระนั้น เวลานี้ยังไม่มีรายงานว่า มีเหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นแต่อย่างใด รวมทั้งไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากข้อบกพร่องนี้

ด้านนิสสันและฮอนด้าออกคำแถลงด้วยคำอธิบายคล้ายๆ กัน

โฆษกของนิสสันเผยว่า จะทำการเรียกคืนรถ 480,000 คันที่ขายออกไปทั่วโลก โดยเป็นรถซึ่งผลิตในญี่ปุ่นระหว่างเดือนสิงหาคม 2000 จนถึงเดือนมกราคม 2004

ขณะที่โฆษกของฮอนด้าเผยว่า บริษัทจะเรียกคืนรถทั่วโลก 1.135 ล้านคัน

สำหรับเป้าหมายการเรียกคืนกลับมาซ่อมแซมของมาสด้านั้นอยู่ที่ 45,463 คัน ในจำนวนนี้เป็นรถที่จำหน่ายภายในญี่ปุ่นเอง 4,384 คัน

ชิเกรุ มัตสึมุระ นักวิเคราะห์หุ้นกลุ่มยานยนต์ของบริษัทหลักทรัพย์เอสเอ็มบีซี เฟรนด์ ซีเคียวริตี้ส์ ชี้ว่า ปัญหามีขนาดใหญ่โตถึงขนาดนี้ สืบเนื่องมาจากระบบที่พวกผู้ผลิตต่างๆ มีการใช้ชิ้นส่วนร่วมกันเพื่อเป็นการประหยัดต้นทุน เขาเสริมว่า ยังเป็นการยากที่จะประเมินผลกระทบซึ่งจะเกิดกับบริษัทผู้ผลิตและชื่อเสียงของบริษัทเหล่านั้นในสายตาผู้บริโภค จากการเรียกคืนรถกลับมาซ่อมแซมเป็นจำนวนมากมายเช่นนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น