เอเจนซีส์ - โตโยต้า, ฮอนด้า, นิสสัน และมาสด้า 4 ค่ายรถชั้นนำของญี่ปุ่น พร้อมใจกันเรียกรถยนต์ที่ขายออกไปแล้วกลับคืนมาซ่อมแซมจำนวนรวมกันเฉียดๆ 3.4 ล้านคัน สืบเนื่องจากปัญหาถุงลมนิรภัย หรือ “แอร์แบ็ก” ซึ่งผลิตโดยบริษัทร่วมชาติที่ชื่อว่า ทากาตะ นับเป็นการเรียกคืนรถครั้งใหญ่อีกครั้งของบริษัทแดนอาทิตย์อุทัย รวมทั้งยังตอกย้ำถึงจุดอ่อนของการใช้ห่วงโซ่อุปทานในระดับโลกเพื่อการลดต้นทุน
บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชื่อดังของญี่ปุ่นทั้ง 4 แห่ง แยกกันออกคำแถลงเมื่อวันพฤหัสบดี(11) ในเรื่องการเรียกรถยนต์ที่ขายออกไปแล้วในทั่วโลกกลับคืนมาซ่อมแซม ซึ่งรวมกันแล้วจะเป็นจำนวนทั้งสิ้น 3.39 ล้านคัน โดยที่ต่างระบุตรงกันว่าเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องจากถุงลมนิรภัยด้านของผู้โดยสาร ซึ่งผลิตโดยบริษัททากาตะ
โฆษกของโตโยต้าแถลงว่า บริษัทฯ จะทำการเรียกคืนรถ 1.73 ล้านคัน ที่ติดตั้งอุปกรณ์จุดระเบิดให้เกิดลมเพื่อให้ถุงลมนิรภัยพองออกมา ซึ่งอาจมีชิ้นส่วนที่เรียกว่า propellant wafer บกพร่อง ส่งผลให้ถุงลมไม่พองตัวเมื่อเกิดอุบัติเหตุ และยังอาจทำให้เกิดการลุกไหม้ในห้องโดยสารอีกด้วย กระนั้นเวลานี้ยังไม่มีรายงานว่ามีเหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นแต่อย่างใด รวมทั้งไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากข้อบกพร่องนี้
ด้านนิสสันและฮอนด้าออกคำแถลงด้วยคำอธิบายคล้ายๆ กัน
โฆษกของนิสสันเผยว่า จะทำการเรียกคืนรถ 480,000 คันที่ขายออกไปทั่วโลก โดยเป็นรถซึ่งผลิตในญี่ปุ่นระหว่างเดือนสิงหาคม 2000 จนถึงเดือนมกราคม 2004
ขณะที่โฆษกของฮอนด้าเผยว่า บริษัทจะเรียกคืนรถทั่วโลก 1.135 ล้านคัน
สำหรับเป้าหมายการเรียกคืนกลับมาซ่อมแซมของมาสด้านั้นอยู่ที่ 45,463 คัน ในจำนวนนี้เป็นรถที่จำหน่ายภายในญี่ปุ่นเอง 4,384 คัน
ทางด้านโฆษกของทากาตะ คอร์ป บริษัทซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงโตเกียว ได้ออกคำแถลงแสดงความเสียใจเป็นที่สุดที่เป็นต้นเหตุทำให้ต้องมีการเรียกรถคืนกลับมาซ่อมแซมเช่นนี้ พร้อมกับบอกว่าพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับพวกผู้ผลิตรถทั้งหลายในการเปลี่ยนส่วนที่บกพร่องด้วยวิธีแบ่งปันกันแบกรับค่าใช้จ่ายบางส่วน
นอกจากนั้น ทากาตะระบุว่าได้จัดส่งถุงลมนิรภัยที่มีข้อบกพร่องรุ่นนี้ให้แก่บริษัทรถต่างชาติด้วย รวมทั้งหมดราว 2 ล้านคัน แต่ไม่ระบุชื่อค่ายรถเหล่านั้น
ทั้งนี้ ทากาตะเป็นซัปพลายเออร์ถุงลมนิรภัยและเข็มขัดนิรภัยให้พวกบริษัทรถชั้นนำของโลกรายอื่นๆ เป็นต้นว่า เดมเลอร์ เบนซ์ และฟอร์ด มอเตอร์ นอกเหนือจากที่ผลิตป้อนให้บริษัทรถยนต์ชาติเดียวกัน
โฆษกอีกคนของทากาตะเสริมว่า จากการตรวจสอบพบว่าข้อบกพร่องเกิดจากปัญหาในขั้นตอนการผลิต
เหตุการณ์นี้เป็นการตอกย้ำความเสี่ยงจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานระดับโลก เนื่องจากพวกผู้ผลิตรถยนต์ต่างพึ่งพิงอาศัยซัปพลายเออร์กลุ่มเล็กๆ กลุ่มเดียวกัน สำหรับชิ้นส่วนที่ใช้ร่วมกันหรือคล้ายกัน เพื่อมุ่งประหยัดต้นทุน
ชิเกรุ มัตสึมุระ นักวิเคราะห์หุ้นกลุ่มยานยนต์ของบริษัทหลักทรัพย์เอสเอ็มบีซี เฟรนด์ ซีเคียวริตี้ส์ ชี้ว่า ปัญหามีขนาดใหญ่โตถึงขนาดนี้ สืบเนื่องมาจากระบบที่พวกผู้ผลิตต่างๆ มีการใช้ชิ้นส่วนร่วมกันเพื่อเป็นการประหยัดต้นทุน เขาเสริมว่ายังเป็นการยากที่จะประเมินผลกระทบซึ่งจะเกิดกับบริษัทผู้ผลิตและชื่อเสียงของบริษัทเหล่านั้นในสายตาผู้บริโภค จากการเรียกคืนรถกลับมาซ่อมแซมเป็นจำนวนมากมายเช่นนี้
กระนั้นก็ตาม ที่แน่ๆ ก็คือข่าวนี้ทำให้หุ้นของทากาตะ รูดแรงถึง 9% ในการซื้อขายวันพฤหัสบดีที่ตลาดโตเกียว
การเรียกคืนรถครั้งนี้นับเป็นครั้งล่าสุดสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่น ซึ่งเคยอาศัยเรื่องคุณภาพและความเชื่อถือไว้วางใจได้ของผลิตภัณฑ์ของตนมาเป็นจุดขาย
เดือนมกราคมที่ผ่านมา โตโยต้าได้เรียกคืนรถเกือบ 1.3 ล้านคันทั่วโลก จากปัญหาถุงลมนิรภัยและที่ปัดน้ำฝน และย้อนกลับไปปลายปีที่แล้ว ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่แห่งนี้เพิ่งควักกระเป๋าจ่ายไป 1,100 ล้านดอลลาร์เพื่อยอมความในคดีฟ้องหมู่โดยเจ้าของรถในอเมริกาที่ได้รับผลกระทบจากการเรียกคืนครั้งใหญ่เมื่อหลายปีก่อน
กระนั้นก็ตามที ปี 2012 ที่ผ่านมา โตโยต้ายังคงสามารถทวงคืนตำแหน่งผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของโลก กลับมาจากเจเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) ด้วยยอดขาย 9.75 ล้านคัน