xs
xsm
sm
md
lg

สธ.แนะลด"หวาน-มัน-เค็ม" ลดโรคหัวใจขาดเลือด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงนโยบายการพัฒนาระบบบริการผู้ป่วยโรคหัวใจของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ว่า โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นโรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตติดอันดับ 1 ใน 3 ของการตายทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย โรคหัวใจที่พบบ่อยที่สุด คือ โรคหัวใจขาดเลือด ซึ่งมักเป็นอย่างเฉียบพลัน ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ต้องเร่งดำเนินการป้องกัน และพัฒนาระบบบริการรักษาพยาบาล เพื่อลดการเสียชีวิต
ทั้งนี้ ก่อนที่จะเป็นโรคหัวใจ ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 70 มักจะมีปัญหาความอ้วน หรือมีไขมันในเลือดสูง การรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ได้ผลดี มี 2 วิธี คือ รักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งผู้ป่วยจะต้องมาถึงโรงพยาบาลภายใน 3 ชั่วโมง หลังจากมีอาการ ในรายที่อาการรุนแรง หรือภาวะช็อก จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยผ่าตัดขยายหลอดเลือดหัวใจทันที จะสามารถดลการเสียชีวิตได้ถึงร้อยละ 50 โดยนโยบายแก้ไขเรื่องนี้จะเน้นหนัก 2 ประการ คือ การป้องกันเพื่อลดจำนวนผู้ป่วย โดยลดอาหารหวาน มัน เค็ม เพิ่มกินผัก ผลไม้ และออกกำลังกาย รวมทั้งพัฒนาโรงพยาบาลศูนย์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่สุดของกระทรวงสาธารณสุข และตั้งอยู่ในภูมิภาค ให้เป็นศูนย์เชี่ยวชาญรักษาผู้ป่วย 4 สาขา คือ อุบัติเหตุฉุกเฉิน โรคหัวใจและหลอดเลือด ทารกแรกเกิด และโรคมะเร็ง มีแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เครื่องเทคโนโลยีการแพทย์ชั้นสูงที่ทันสมัย เพื่อลดการเสียชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งขณะนี้มีโรงพยาบาลศูนย์ในภูมิภาค ที่สามารถผ่าตัดหัวใจและหลอดเลือดได้แล้ว 10 จังหวัด
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้พัฒนาระบบบริการให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาอย่างรวดเร็ว เพื่อลดอันตรายโรค โดยพัฒนา 2 หน่วยบริการ คือ โรงพยาบาลจังหวัดที่มีความพร้อม ให้เป็นศูนย์โรคหัวใจ เพื่อเป็นเครือข่ายบริการ กับศูนย์เชี่ยวชาญ ร่วมกันดูแลผู้ป่วย ขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 46 แห่ง ซึ่งจะมีระบบการให้คำปรึกษา เปิดช่องทางด่วน ส่งต่อผู้ป่วยโรคหัวใจไปรับการรักษาที่ศูนย์เชี่ยวชาญในแต่ละภาคในทันที และเปิดโครงการคลินิกวาร์ฟาริน ที่โรงพยาบาลชุมชนอีก 50 แห่ง เป็นศูนย์ดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจ โดยรักษาด้วยยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด ป้องกันลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดหัวใจ หรือสมอง ทำให้เสียชีวิตหรือเป็นอัมพาต และจะเร่งขยายการให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น