xs
xsm
sm
md
lg

สภาอิหร่านเลื่อนถกกม.ตอบโต้อียูกรณีคว่ำบาตรห้ามนำเข้าน้ำมัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อิหร่านส่งสัญญาณขัดแย้งกันเอง ด้านหนึ่งมีการประกาศยุติการส่งออกน้ำมันให้ “บางประเทศ” เร็วๆ นี้ ส่วนอีกด้านรัฐสภาเลื่อนถกข้อเสนอระงับการขายน้ำมันดิบให้อียู ทางด้านรมช.น้ำมันของเตหะรานชี้การระงับนำเข้าของยุโรปอาจดันราคาน้ำมันขึ้นไปสู่ระดับ 120-150 ดอลลาร์ ขณะเดียวกัน ประธานสภาเตือนทีมตรวจสอบของไอเออีเอให้ทำหน้าที่แบบมืออาชีพ

ความตึงเครียดระหว่างเตหะรานกับตะวันตกปะทุรุนแรงขึ้นมาในเดือนนี้ เมื่อวอชิงตันและสหภาพยุโรป (อียู) ประกาศมาตรการคว่ำบาตรเพื่อกดดันให้อิหร่านเพิ่มความโปร่งใสเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ โดยมาตรการลงโทษพุ่งเป้าโดยตรงที่ความสามารถในการขายน้ำมันดิบของสมาชิกอันดับ 2 ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) แห่งนี้

เพื่อส่งสัญญาณว่า เตหะรานสามารถตอบโต้การแซงก์ชันแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน วันอาทิตย์ที่ผ่านมา (29) รอสแทม กาเซมิ รัฐมนตรีน้ำมันประกาศผ่านสำนักข่าวไออาร์เอ็นอาร์ว่า ในเร็วๆ นี้อิหร่านจะระงับการส่งออกน้ำมันให้ “บาง” ประเทศ แต่ไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงว่าเป็นชาติใด

กาเซมิสำทับว่า การแซงก์ชันของฝ่ายตะวันตกไม่มีผลอันใด เนื่องจากน้ำมันอิหร่านมีตลาดรองรับอยู่แล้ว แม้จะตัดการส่งออกไปยังยุโรปก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ในวันอาทิตย์ ซึ่งเดิมทีสมาชิกรัฐสภาอิหร่านมีกำหนดอภิปรายร่างกฎหมายยุติการส่งออกน้ำมันให้อียูโดยเร็ว เพื่อเป็นการเปิดฉากโจมตีก่อนที่มาตรการคว่ำบาตรน้ำมันอิหร่านของอียูจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนั้น กลับมีการเลื่อนการอภิปรายออกไปไม่มีกำหนด

อีหมัด ฮอสไซนี โฆษกคณะกรรมาธิการพลังงานของรัฐสภา เผยว่า ยังไม่มีการร่างกฎหมายดังกล่าวและไม่มีการส่งร่างกฎหมายใดๆ ให้รัฐสภาพิจารณา สิ่งที่มีอยู่ในเวลานี้คือ แนวคิดของสมาชิกรัฐสภาในการผลักดันเพื่อให้ได้ข้อสรุปในเรื่องนี้

ขณะที่สมาชิกรัฐสภาผู้หนึ่งบอกว่า ร่างกฎหมายนี้จะกำหนดให้รัฐบาลตัดซัปพลายน้ำมันที่ป้อนอียูเป็นเวลานาน 5-15 ปีทีเดียว

อียูกำหนดเริ่มมาตรการงดนำเข้าน้ำมันอิหร่านภายในเวลา 6 เดือน ด้วยความประสงค์จะให้เวลาชาติสมาชิกที่อ่อนแอทางเศรษฐกิจที่สุดและพึ่งพิงน้ำมันอิหร่านมากที่สุด ในการปรับตัวและหาผู้ขายน้ำมันรายใหม่

โดยที่อียูเป็นผู้ซื้อน้ำมันดิบราว 25% ของปริมาณน้ำมันดิบที่อิหร่านส่งออกในไตรมาส 3 ปีที่แล้ว

กระนั้น นักวิเคราะห์ไม่คิดว่า ตลาดน้ำมันจะได้รับผลกระทบมากนักหากอิหร่านหยุดส่งน้ำมันให้อียู แต่กรณีที่น่าเป็นห่วงกว่าคือ ความเสี่ยงที่ข้อพิพาทระหว่างเตหะรานกับตะวันตกจะลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งทางการทหาร โดยอิหร่านนั้นย้ำมาตลอดว่า จะปิดช่องแคบฮอร์มุซที่เป็นเส้นทางลำเลียงน้ำมันสำคัญของอ่าวเปอร์เซีย หากมีการปิดกั้นการส่งออกน้ำมันของตน ทว่า วอชิงตันโต้กลับตลอดมาเช่นกันว่า จะไม่ยอมให้เตหะรานทำแบบนั้นเด็ดขาด
กำลังโหลดความคิดเห็น